แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การสอบสวนอุบัติเหตุ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การสอบสวนอุบัติเหตุ แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2568

ประวัติศาสตร์เซฟตี้

 Abraham Maslow พูดถึงเซฟตี้ไว้เมื่อปี 1943 ว่าลำดับขั้นของความต้องการของคนนั้นมีอยู่เป็นลำดับๆ เริ่มตั้งแต่ความต้องการพื้นฐาน อย่างอาหาร อากาศ ที่อยู่อาศัยพักพิง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การสืบพันธุ์ การพักผ่อนหลับนอน เรียกง่ายๆว่า ท้องอิ่มนอนหลับแค่นี้ก็หรูแล้ว 

ลำดับถัดขึ้นไปอีกนิดก็ เซฟตี้ ก็จะเริ่มถูกระลึกถึง ความปลอดภัยในครอบครัว ความมั่นคงในงาน ความมั่นคงในฐานะทางการเงิน ความมั่นคงทางอารมย์ เรียกว่า ถ้าท้องยังไม่อิ่ม มันก็หนีไม่พ้น ต้องดิ้นรนหากิน จะให้ปลอดภัยนักหนานั้นไม่ง่าย บางคนต้องทำงานเสี่ยงๆ เขาสั่งให้ไปทำก็ต้องไป อย่างที่เห็นอุบัติเหตุมากมาย คนงานถูกสิ่งต่างๆถล่มทับ ถูกสารพิษคร่าชีวิต ถ้าพวกเขาเลือกได้ เขาต้องเลือกชีวิตตัวเองก่อน สำหรับพวกเขา มันเลือกลำบาก 

ลำดับถัดขึ้นไปอีก ก็เปผ้นอารมย์คนรวย เรื่องหิวโหยไม่มี ที่กำลังโหยหาคือความยอมรับทางสังคม ความสัมพันธ์ในครอบครับ เพื่อนฝูง กดไลค์กดแชร์ การได้โชว์ ได้รับเสียงเชิดชู หูหูย ลำดับนี้ เรื่องเซฟตี้ก็รองๆไปแล้ว โดยเฉพาะเซฟตี้ของลูกจ้าง ถ้าจะต้องทำให้เซฟตี้ เขาจะเลือกอย่างอื่นที่ได้หน้าได้ตามากกว่า 

เลยไปจากนี้ก็ออกแนว สนองความอยาก เช่นอยากบรรลุ อยากสุดยอด อยากได้ไปยืนบนยอดเขาเอเวอรเรสท์ อยากกระโดดร่มแล้วดูดไอติมไปด้วย อยากให้โลกรู้ ว่ากูนี่สุดยอดแล้วโว้ย 


โรงงานขนาด 20-50 คน ส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมครอบครัว มีไม่มากที่ผ่าน Basic Needs ยังขายไม่ดี ยอดขายไม่พุ่ง มีดอกเบี้ยต้องจ่ายแบ้งค์ ใช้แรงเป็นหลัก เครื่องจักรที่มีก็ไม่สมบูรณ์ อย่าพูดถึงเรื่องเซฟตี้ให้เจ็บคอ ถ้ากฏหมายไม่บังคับ หรือบังคับแบบพอไปที ยังไงเซฟตี้ก็ไม่สำคัญเท่าท้องอิ่มนอนหลับหรอกคุณ โรงงานขนาดใหญ่ พวกเขาโหยหาหน้าตาทางสังคม เน้นไปในเรื่องความยั่งยืน คาร์บอนเครดิต ไปโน่น ในขณะที่คนงานยังต้องเผชิญกับเครื่องจักรอันตราย เครื่องมือที่ทำขึ้นเอง แอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้้ำ เพราะสิ่งเหล่านี้ พวกเขามองไม่เห็นความจำเป็น พอเริ่มรวย เซฟตี้ก็ยังถูกมองข้ามอยู่ดี เพราะเจ้าของเขาไม่ใช่คนที่จะมานิ้วกุด แขนขาด ตายตกหกหล่น คนที่เจ็บที่ตายเป็นคนงาน ที่ยังไงเสียพวกเขาก็มีปัญญาจ่ายอยู่ดี แต่สิ่งที่พวกเขาโหยหากลับเป็นความต้องการลำดับที่เหนือขึ้นไป พวกเขาต้องการสายสัมพันธ์ การมีที่ยืน ต้องการเป็น สส. สว. เป็นนักการเมือง เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นแรงขับให้บรรลุจุดสุดยอด 


วันที่ 3 ธันวาคม 1984 เกิดการรั่วไหลของแก็ส MIC- Methyl Isocyanate จากโรงงานของบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ คร่าชีวิตคนอินเดียไปประมาณ 15,000 คน ตัวเลขนี้ไม่เคยตรงกัน จนป่านนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน

เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นความสูญเสียอย่างมโหฬาร ระบบความปลอดภัยที่ล้มเหลว การออกแบบที่ไม่ดีพอ การบริหารจัดการที่ล้มเหลว และการขาดความรู้ความเข้าใจของคนงานเอง เหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดเหตุการที่เลวร้าย 

โรงงานยูเนี่ยนคาร์ไบด์ สมัยนั้นก็เหมือนกัยมาบตาพุดสมัยโน้น ใครได้เข้าไปทำงานที่นั่น แค่ได้ใส่ยูนิฟอร์มก็หรูหราหมาเห่าแล้ว มันอยู่กลางเมือง ผลิตยาฆ่าแมลง อย่างเซวิ่น ที่โด่งดังในบ้านเรา กระบวนการผลิตต้องใช้สาร Methyl Isocyanate ซึ่งเมื่อทำปฎิกิริยากับน้ำมันจะเดือดพล่าน เกิดความร้อนและกลายเป็นแก็สพิษที่ลอยปกคลุมพื้นที่ ในคืนนั้นมันรั่วออกมา ระบบหล่อเย็นไม่มี ระบบเอาแก็สพิษขึ้นเผาทางปล่องไม่มี ระบบ Scrubber เล็กเกินไป และที่แย่ไปกว่านั้น ไม่มีใครรู้ว่ามันคือแก็สอะไร มันคือของลับ มีหนังเรื่อง The Prayer For The Rain   ที่นำเหตุการณ์แก็สรั่วที่โบพาลมาบอกเล่าได้อย่างละเอียดละออ พระเอกของเรื่องเป็นเซฟตี้ ที่เถียงกับผู้จัดการโรงงาน แล้วถูกสวนกลับว่า อดตายกับอุบัติเหตุ คุณจะเลือกอะไร คือประมาณว่า มึงพูดมาก เดี๋ยวกูก็ไล่ออกเสียหรอก

หลายปีก่อน ระหว่างที่ผมกำลังทำงานอยู่ที่โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในมาบตาพุด ก็ได้รับโทรศัพท์จาก อาจารย์จงรักษ์ ผลประพฤติ ขณะนั้นท่านเป็นคณะบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรำไพพรรณี ท่านโทรมาชวนว่า เขาจะมีการประชาพิจารณ์กันเรื่องโรงงานจากอินเดีย จะไปสร้างที่แหลมสิงห์ อยากชวนผมไปฟัง ไปครับลุง ผมรับปาก แล้วแกก็มารับ 

วันนั้น โรงงานที่ว่า เขาจะผลิตสาร Epichlorohydrin ซึ่งเป็นสารตั้งต้นทำพวก Epoxy Resin โดยมีกระบวนการผลิตที่ไม่สลับซับซ้อนอะไร ใช้แก็สคลอรีน ใช้กรดไฮโดรคลอริค แต่ที่น่าสนใจ มันเป็นสารก่อมะเร็ง คุณอาจจะทำคอย่นแล้วเถียงแทนว่าแหม ทำสำออย อะไรมันก็ก่อมะเร็งทั้งนั้น 

วันนั้นผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งกำลังอธิบายเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยของโรงงาน สาธยายระบบการจัดการเวลามั่นรั่วไหล คนในห้องประชุมมีสองพวก คือพวกอยากได้โรงงาน เพราะรวยจากการขายที่ขายดินการถมที่ กับอีกพวกที่มีฟาร์มปลา และที่ไร่ที่สวน ที่ท่องเที่ยวเขาไม่อยากได้ มีการเถียงการถามกันไปมา

อาจารย์ท่านนั้นเมื่อบรรยายจบก็เปิดโอกาสให้ถาม ผมก็ถามไปว่า ทำไมถึงมาตั้งที่แหลมสิงห์ ทำไมไม่ตั้งในมาบตาพุตซึ่งถ้าเทียบกันเมืองจันทบุรีไม่น่าจะเหมาะ จันทบุรีพร้อมรับเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดแล้วหรือ อย่างเช่น รถบรรทุกแก็สคลอรีนพลิกคว่ำแก็สรั่ว 

อาจารย์ท่านนั้นย้อนมาว่า คุณจบอะไรมา แก็สคลอรีนมันหนักกว่าอากาศ รั่วออกมาก็แค่ยืนขึ้นเอาผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูกแค่นี้เอง 

ผมก็บอกไปว่าจบอะไรมา แล้วย้อนถามไปว่า อาจารย์ลืมไปแล้วหรือว่าคนแก่ เด็กเล็กๆ พวกนี้เขาจะรอดรึ และที่สำคัญ อาจารย์ลืมเหตุการณ์ที่โบพาลไปแล้วรึ 

คงมีแค่เราสองคนที่รู้ว่ากำลังพูดถึงอะไร ระหว่างนั้น การถกเถียงเริ่มเสียงดัง ผมเหลือบไปเห็นชายคนหนึ่ง เอาวัตถุสีดำมะเมื่อมขึ้นมาวางบนโต๊ะแล้วตวาดว่า กูไม่สนโว้ยนี่มันเรื่องของคนจันทบุรี ใครไม่ใช่อย่าเสือก 

ผมหุบปากเงียบ สะกิดลุงจงรักษ์ว่าลุงๆ ไปเหอะ อย่าไปยุ่งกะเขาเลย ปล่อยให้เขาสูดกันไป ผมไม่อยากตายเพราะแพ้พิษสารตะกั่ว ว่าแล้วเราก็กลับกันแนบ


วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2567

พระรามสยอง ปลาร้าสยิว

 ข่าวสะเทือนใจกลางปีนี้ก็คงหนีไม่พ้นรถบัสนรกที่ย่างสดนักเรียนไปกว่า 20 ชีวิต และเขย่าขวัญกันด้วยข่าว Launcher Gantry ถล่มที่ถนนพระรามสยอง ต่อด้วยข่าวบ่อปลาร้าสยิวที่คร่าชีวิตไป 5 ศพ 😐


มีคนถามขึ้นดังๆว่า ก็ในเมื่อมี จป.วิชาชีพเป็นแสนคน จป.หัวหน้างานอีกหลายแสนคน จป.บริหารอีกมากมาย ทำไมยังเกิดอุบัติเหตุไม่หยุด 

บ้างก็ข้อนขอดว่า มีกฏหมา(ย)มากมายจากแต่ละกระทรวง ทบวง กรม นี่ไม่นับรวมบรรดาประกาศ คำสั่งที่ออกโดยคณะปฏิวัติ ก็แล้วทำไมไม่ดีขึ้นบ้างเลย

มีผู้รู้ กูรู้ กูไม่รู้แต่แกล้งรู้ กูปีนเสาก็เลยรู้ กูโดนกระโถนฟาดก็เลยรู้  และบรรดาดอกเตอร์ ดอกแต๋ว มากมาย ทำไมเราไม่สามารถหาข้อยุติแล้วเอาไปแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

มีอะไรที่คล้ายคลึงกันและเป็นแกนกลางของปัญหาเหล่านั้น 

ถ้าเป็นเมื่อสมัยปี 1930 Herbert William Hienrich ก็จะบอกว่า ความยากจนไง ประเทศที่ยากจน คนยากจน เวลาทำอะไรแต่ละอย่าง มันก็ไม่คิดอะไรหรอก เพราะงานมันต้องรีบ ต้องเร่ง ต้องเสร็จ ไม่งั้นไม่ได้ค่าจ้าง มีอะไรก็ใช้ไปก่อน จะไปเอาอะไรหรูหราหมาเห่า เขาไม่ซื้อมาให้ใช้หรอก เรื่องความตระหนัก ไม่ต้องถามหา ก็มันจน จะเอาเงินที่ไหนไปเรียนรู้ ดูได้อย่างดีก็ติ๊กต่อก คำว่าอย่าทำอย่างนี้ ไม่มีหรอก ไม่ทำแล้วใครจะทำ  ส่วนพวกเซฟตี้จะไปหือไปอืออะไรได้ มีงานให้ทำก็ดีตายห่าแล้ว นายสั่งก็ต้องทำ ส่วนไอ้พวกเซฟตี้ซ่าๆก็ไปนั่งเขียนบล็อกอยู่นั่นไง เขาไล่ออก เพราะพูดมาก เฮ่อๆๆๆ วงจรโง่จนเจ็บ มันไม่ใช่แค่คน บริษัทก็เหมือนกัน ของขายไม่ดีจะเอาเงิน เอาทรัพยากรที่ไหนมาใส่ลงไปในเรื่องความปลอดภัย มันก็ต้องกำไรก่อนเรื่องแรก ส่วนระดับชาติ ก็โกง กิน คอรัปชั่นกันทุกระดับ อย่าให้ต้องสาธยาย อย่างกรณีรถทัวร์นรกนั่น ป่านนี้ จับคนโกงได้กี่คน ส่วนเรื่องเครนถล่ม คงไม่ต้องสาวไปไกลๆ จับตรงไหนก็เจอ รึใครจะเถียง 

ถ้าเป็นสมัยปี 1996 Frank E.Bird ก็บอกว่า มันเพราะระบบการจัดการไม่ดี ไม่มีมาตรการที่เพียงพอ ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน หรือถ้ามี ก็ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน อะไรๆก็เลย ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสักเรื่อง แล้วก็ลงเอยด้วยอุบัติเหตุไง เออๆๆๆ ฟังดูเข้าท่า ประเทศจนๆ มักจะมีกฏหมายมากมายจนคนออกกฏหมาย คนใช้กฏหมายและคนเดินดินงงไปตามๆกัน แต่กฏหมายที่มีส่วนใหญ่ สักแต่ว่ามี ต้องมี เพราะดันไปเซ็นตกลงในองค์กรระดับโลกมา เลยต้องตามน้ำ ไม่งั้นโลกเขาไม่นับญาติด้วย พอมีกฏหมายมากๆเข้า มีหน่วยงานมากๆเข้าคราวนี้งงครับ เพราะไม่รู้ใครต้องทำอะไร ไม่มีเจ้าภาพ มีแต่เจ้านายตัดริบิ้นเสร็จ ไม่มีคนทำงาน มีแต่ภารโรง คราวนี้ก็ต้องบูรณาการ อีคำนี้ถ้าหมายถึง Integration ผมก็เห็นด้วย แต่ถ้าเป็นแค่คำสวยๆในการประกาศภาระกิจในเว็ปไซท์ของกระทรวง ผมก็ว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย 

ปี 2000 ดอกเตอร์ Jame Reason ก็อธิบายว่าความห่วยแตกทั้งหลายมันก็เหมือนรูที่เกิดจากฟองอากาศในแผ่นชีส คนในประเทศจนๆไม่ค่อยได้กินชีสก็นึกไม่ค่อยออก Swiss Cheese Model อธิบายความล้มเหลวไว้สองประเภท ได้แก่ Latent Failure หรือความล้มเหลวที่ซ่อนเร้นมาเนิ่นนาน กับความล้มเหลวแบบ Active Failure เป็นความล้มเหลวที่เกิดขึ้นแล้วตูมตามเลย จริงๆแล้วทั้งสามคนพูดไว้ไม่ผิดเลย ความเห็นของ H.W. Heinrich กับ James Reason คล้ายกันตรงเรื่องคน แต่ต่างกันก็ตรงที่เพิ่มเติมว่าความห่วยแตกนั้นมันไม่ได้มาจากคนงานอย่างเดียว องค์กรนี่ก็เป็นต้นเหตุสำคัญ 

อย่างกรณีรถบัสย่างสดเด็กๆ มันก็เป็นแค่ฝีที่แตกออกมาก่อน ถ้าไม่เกิดเหตุนี้ก็อาจจะได้เห็นกรณีรถขนบรรดาพวก อบต. อบจ. ที่กำลังเดินทางท่องเที่ยวด้วยขบวนรถบัสอย่างคึกคัก เพราะจะสิ้นปีแล้วต้องผลาญงบประมาณให้หมด ตอนนี้ถนนจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยววัยเก๋า ไปกันทีเป็นขบวนยาวเหยียด เดี๋ยวสิ้นปีแล้ว พอเดือนกุมภาก็เลือกตั้งกันใหม่ บางจังหวัดก็มีเรื่องยิงกันตูมตามตายคาบั้น ป่านนี้ยังหาคนยิงไม่เจอ ถ้าเด็กเหล่านั้นไม่ตายก่อน ก็คงได้เห็นทัวร์นรกอีกหลายคันเลยทีเดียว สงสารพวกหนูจัง 

กรณีบ่อปลาร้านั่น ก็เป็นความห่วยของกฏหมายที่มีแต่ไม่บังคับใช้อย่างรัดกุม สถานประกอบกิจการแบบนี้จะว่าเป็นโรงงานรึเปล่า กรมที่เขาดูแลโรงงานอาจจะส่ายหัวดิกๆเกาหัวยิกๆ ส่วนกรมที่เขาดูแลลูกจ้างก็อาจจะไม่อยากออกตัวแรง กลัวงานเข้า ส่วนกลไกที่วางไว้อย่างเช่น จป.ระดับต่างๆ อย่าง จป.หัวหน้างาน จป.บริหาร จป.เทคนิค อย่างหลังนี่ไม่มีแน่เพราะคนงานไม่ถึงเกณฑ์ ต่อให้ถึงเกณฑ์ ใครจะบอก ส่วนกฏกระทรวงที่อับอากาศ อย่าไปหวังว่าจะเอาไทำ ขนาดเกิดเรื่องแล้วยังไม่มีการลงมืออะไรเลย 

เอาเป็นว่า ปัญหาใหญ่ๆของความปลอดภัยในประเทศจนๆ เอาทฤษฎีไหนมาอธิบาย มันก็น้ำตาจะไหลทุกอัน เพราะมันใช่ไปหมด อย่างกรณีเครนล้ม เครนหัก เครนหลุด ขนาดมีกฏกระทรวงกำหนดมาตรฐานเรื่องเครน เรื่องการตรวจ การออกแบบ การติดตั้ง การใช้งาน มีกฏกระทรวงสี่ผู้ ผมเพิ่มให้อีกผู้ คือผู้ต้องหา ยังล้มกันรายวัน คุณว่ามันเกิดจากอะไร ผีผลัก ไม่มีมาตรฐาน หรืออะไร ใครก็ได้ช่วยตอบที

วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2567

สลดแล้ว สลดอีก สลดกันต่อไป

 




ขอหักมุมจากเรื่องฮาฮา มาเป็นเรื่องสลดหดเหี่ยวกันหน่อย ว่าเวลาที่คนงาน บาดเจ็บ ล้มตายกันแต่ละที เหตุการณ์ต่อจากนั้นมันเป็นยังไง ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

ตัวอย่าง พอเกิดเหตุ คนงานลงไปตายในบ่อบำบัดน้ำเสีย คนงานที่มาประสบเหตุก็จะตกอกตกใจ โวยวาย บางคนก็กระโจนลงไปกะว่าจะช่วยเพื่อน บางคนก็วิ่งไปบอก ไปโทรหาหัวหน้า หัวหน้าก็โทรหา ผู้จัดการ ผู้จัดการโทรหาผู้จัดการ ผู้จัดการโทรหาผู้จัดการ จังหวะนี้ อาจจะมีคนที่พอมีสติโทรหารถพยาบาล โทรไม่ติด โทรติดไม่มีคนรับ มีคนรับพูดไม่รู้เรื่อง เอาเป็นว่า รถหวอคันแรกที่มาถึงก็มักจะเป็น กู้ภัย พระเอกตัวจริงของไทย กู้ภัยก็รีบลงไปช่วยกู้ศพขึ้นมา ตำรวจมาพอดีเลย อีกสักพักหมอก็มา ชันสูตรพลิกศพ ที่ถูกแบกขึ้นมาแล้ว ตามกฏหมาย มาตรา 34 พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย 2554 นายจ้าง ซึ่งก็มักจะเป็นผู้บริหารใหญ่ๆโตๆ ยศระดับ ผอ. ผจ. ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนนายจ้าง หรือถ้าเป็นโรงงานเล็กๆ ก็เจ้าของโรงงานนั่นแหละ ต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในทันทีที่ทราบ โดยโทรศัพท์ โทรสาร หรือวิธีอื่นใดที่มีรายละเอียดพอสมควร และให้แจ้งรายละเอียดและสาเหตุ เป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างเสียชีวิต  ถ้าไม่แจ้ง มีสิทธิ์โดนปรับ ห้าหมื่นบาทกันเลยเชียว ส่วนว่าแจ้งไปแล้ว พี่เค้าจะมาเลย หรือไม่มา นั่นมันก็ขึ้นอยู่กับพี่เค้าแหละ ส่วนใหญ่ ถ้าไม่เป็นข่าวครึกโครม พี่เค้าก็จะไม่ค่อยมาหรอก มาทีนึงพี่ๆเค้าก็จะยังไม่ว่าอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็จะแค่บอกว่า จ่อๆ หรือเล็งๆ เอาผิดนายจ้าง ไม่รู้ว่าที่เล็งๆจ่อๆ มีลั่นไกไปมั่งรึยัง 



อย่างกรณีเครนถล่ม แถวพระรามสาม ก็จ่อเอาผิดนายจ้าง เหมือนกัน 

ตัดฉากกลับมาที่ เจ้าพนักงานสอบสวน เขาก็มาสอบๆไป ส่วนใหญ่ ก็ประเด็นไว้กว้างๆก่อน ว่า เป็นอุบัติเหตุ หรือ ความประมาท  พี่ๆพนักงานสอบสวนเค้าไม่ค่อยมีอะไรสลับซับซ้อน เค้าเล็งมาที่ 

มาตรา 291 "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"
องค์ประกอบความผิด (1) ผู้ใด (2) กระทำโดยประการใด (3) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (4) โดยประมาท (องค์ประกอบภายใน (ไม่ต้องมีเจตนา))


การกระทำโดยประมาท คือ การกระทำที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังทั้งๆที่สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 59 วรรคสี่ "กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่"

สอบคนงานที่ทำงานแถวๆนั้น สอบหัวหน้างาน สอบเจ้าของโรงงาน สอบไปสอบมา ก็อาจจะแจ้งข้อหา คนงานด้วยกันที่บังเอิ้น รอดตายมาได้ หรือไม่ก็หัวหน้างาน รึไม่ก็ไฟร์แมน ส่วนบรรดานายจ้างรอดแน่นอน ก็หลักฐานมันไปไม่ถึง ไม่เข้าองค์ประกอบ 

ส่วน เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน ถ้าจะหยิบเอา มาตรา ๘ ให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กําหนดในกฎกระทรวง มาเลียบๆเคียงๆ ถ้าไม่กล้าถาม ก็อ้อมๆแอ้ม ถามก็ได้ อย่างเช่น กรณีคนงานลงไปตายในบ่อบำบัดน้ำเสียนั้น เขาลงไปทำอะไรกัน ลงไปนั่งเล่นเหรอ ถ้านายจ้างจะบอกว่าไม่รู้ คำถามต่อมาก็ลองอ้อมแอ้มถามดูก็ได้ว่า ทางเข้าทางออก ไม่ได้ปิดกันไม่ให้มีคนลงไปโดยพละการดอกรึ ลองหยิบ กฏกระทรวงเรื่องที่อับอากาศมาไล่นิ้วดู มีกี่ข้อที่นายจ้างไม่ได้ทำตาม แล้วแบบนี้ ถือว่านายจ้างละเมิด มาตรา 8 วรรคแรก ใน พรบ.ความปลอดภัยมั้ย ถ้าใช่ ก็มีบทลงโทษในมาตรา 53 หรือถ้าสอบไปสอบมา การณ์ปรากฏว่า มี ผจ. ผอ.นั่นแหละเป็นคนสั่ง บังคับให้ลงไป แถมรั้นอีกว่า ลงไปล้างแป๊บเดียวเอง จป.ท้วงว่ามันคือที่อับอากาศ ก็เถียงตาปูดตาปลิ้นว่าไม่ใช่ รูเบ้อเร่อเบ้อเถร มันจะอับได้ยังไง แบบนี้ ก็มาตรา 69 เลยครับ 

มาตรา ๖๙ ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้น เกิดจากการสั่งการ หรือการกระทําของบุคคลใด หรือเกิดจากการไม่สั่งการ หรือไม่กระทําการอันเป็นหน้าที่ ที่ต้องกระทําของกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

เชื่อผมมั้ย ว่าส่วนใหญ่ ลูกจ้างตายไปแต่ละที ไม่เคยมีนายจ้างโดนลงดาบด้วย พรบ.ความปลอดภัยเลย ฆ่าตัดตอนกันด้วย มาตรา 291 เร็ว ครบ จบง่ายดี ส่วนลูกจ้าง ยังไงก็ไปร้อง กองทุนเงินทดแทนเอาละกัน สลดแล้ว สลดอีก สลดกันต่อไป 





วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

คำบอกเล่าของประยูร - การสัมภาษณ์พยาน

ประยูร กับผม สบตากันแว่บหนึ่งก่อนจะเริ่มพูดคุย เขายกมือไหว้แบบกลัวๆ สายตาคู่นั้นหวาดหวั่นกับการที่จะต้องนั่งอยู่เบื้องหน้าผู้จัดการความปลอดภัย และคณะทำงานสอบสวนอุบัติเหตุอีกสองสามคน
ผมกล่าวกับประยูรอย่างเป็นกันเองด้วยการแนะนำตัวและบอกให้เขาทราบว่าวัตถุประสงค์ของการสอบสวนอุบัติเหตุนั้นก็เพื่อจะค้นหาความผิดปกติของระบบบริหารจัดการ และนำไปป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำขึ้นอีก และยังบอกให้ประยูรรู้ว่าเราจะสอบถามเรื่องราวต่างๆ ที่ประยูรสามารถบอกเล่าได้ โดยระหว่างนั้นเราจะทำการจดบันทึก และจะให้เขาดูอีกครั้งหลังจากการพูดคุยกัน ที่ต้องบอกว่าเราจะจดคำให้การ ก็เพื่อให้เขาไม่รู้สึกอึดอัดว่ากำลังถูกรีดข้อมูลและจดอย่างเอาเป็นเอาตาย  ผมยังอธิบายให้ประยูรทราบคร่าวๆถึงขั้นตอนในการสอบสวนอุบัติเหตุ และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ และยินดีที่จะรับฟังคำแนะนำ และข้อเสนอแนะจากประยูรที่จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ การสร้างบรรยากาศเป็นกันเองทำให้ประยูรดูผ่อนคลายลงไปมาก

ประยูรเล่าว่า ขับรถออกจากปั๊มน้ำมัน ตอนนั้นก็ใกล้เที่ยงคืนแล้ว ฝนตกปรอยๆ เมื่อมาถึงแถวๆหน้าประตูบริษัทเกษตรรุ่งเรือง ที่อยู่ก่อนถึงทางเข้าคลังประมาณ 500 เมตร เขาเห็นอะไรตะคุ่มๆบนถนน ผมขอให้ประยูรเล่าตรงนี้ซ้ำว่า ที่เห็นอะไรตะคุ่มๆนั้นประมาณสักกี่เมตร เขากะระยะคร่าวๆจากหน้าห้องถึงหลังห้อง ก็ประมาณ 8 เมตร ตรงนี้ผมจดโน็ตลงไปข้างๆคำบอกเล่าของประยูรว่า จะหาข้อมูลเกี่ยวกับไฟตารถ ประยูรบอกว่าเขาไม่ได้แตะเบรกเลย และเขาคร่อมสิ่งนั้นไปก่อนจะได้ยินเสียงเหมือนล้อหน้าเหยียบไปบนอะไรบางอย่างแตกโพละ ประยูรบอกว่าจอดลงไปดู โดยปิดไฟหน้ารถก่อน และเห็นศพกับมอเตอร์ไซค์ เขาพยายามเดินหน้า ถอยหลังจนหลุดแล้วรีบขับรถเข้าไปจอดในศูนย์จัดส่ง เสร็จแล้วจึงแจ้งกับหัวหน้ากะว่าตนไม่ค่อยสบาย จะขอกลับไปนอนพักผ่อน

ระหว่างการสัมภาษณ์ เราถามประยูรว่า เมื่อตรวจดู SW-100 พบว่าเขาใช้ความเร็วโดยเฉลี่ยเกือบๆ 70 กม./ชม. เหตุใดจึงใช้ความเร็วขนาดนั้นทั้งๆที่ฝนตกปรอยๆและเขาเองก็บอกว่ามองทางไม่ค่อยถนัด ประยูรโอดครวญว่า ผมกะว่าจะมารับแก็สอีกสักเที่ยวแล้วจะออกไปอีกรอบ ถ้าขับช้ากว่านี้ผมก็ไม่พอกินหรอกครับ พูดถึงตรงนี้  จึงขอให้เขาเล่าขยายความให้ฟัง ประยูรเล่าเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนเหนือ เลิกกับภรรยาเก่าและมีภรรยาใหม่ แต่ยังต้องมีภาระส่งเสียทั้งสองทาง รายได้หลักมาจากเขาทั้งหมด การจ่ายเงิน รวมกับค่าเที่ยว ยิ่งทำเที่ยวได้มาก ยิ่งจะพอได้ใช้จ่ายไปเดือนๆหนึ่ง

ประยูรยืนยันว่าตนได้ตรวจสอบรถก่อนออกเดินทาง และพบว่าทุกอย่ากปกติ และหลังจากเติมน้ำมัน เดินรอบรถอีกครั้ง ไฟตาก็ปกติ
การตรวจจุดเกิดเหตุ ไม่พบร่องรอยการเบรก ด้านขวาเป็นเลนสวน ประยูรอ้างว่าขรธเกิดเหตุมีรถวิ่งสวนมาตนจึงไม่หักหลบไปเลนขวา ส่วนเลนซ้ายเป็นไหล่ทางมีเสาไฟส่องทาง ซึ่งพบว่าชำรุดอยู่ก่อนแล้วทั้งหมด ประยูรบอกว่าหักหลบซ้ายก็ชนเสา เขาจึงขับคร่อมไป (ด้วยความเร็วประมาณ 70 กม./ชม.)

หลังจากคุยกับประยูรเสร็จ ก็พูดคุยกับหัวหน้ากะชื่อวิเชียร คนนี้เป็นคนเก่าคนแก่ ท่าทางนักเลง และดูจะมีทัศนะคติเป็นลบกับทีมเซฟตี้ ด้วยเหตุที่เข้ามาตรวจและเตือนสาระพัดอย่างว่าต้องปรับปรุง และที่แย่ที่สุด ผู้จัดการของเขาเพิ่งถูกปลดไปเทื่อสองเดือนก่อนด้วยเรื่องความปลอดภัย
วิเชียรไม่ค่อยอยากจะพูดอะไรมาก ถามคำตอบคำ ด้วยความที่ช่ำชองในการถูกสอบสวน เขาหอบเอารายงานการซ่อมบำรุงรถ การเปลี่ยนอะไหล่ และเอกสารเกี่ยวกับการฝึกอบรม การจัดตารางเดินรถ ตารางการพักผ่อน มาให้ดู เราได้ตรวจสอบรถพบว่าไม่มีร่องรอยการเฉี่ยวชนใดๆ มีรอยครูดใต้ท้องรถเท่านั้นที่เห็นชัดเจน ส่วนไฟตา ใช้ได้เพียงข้างซ้ายข้างเดียว ตรงนี้ขัดกับที่ประยูรเล่าให้ฟัง
เมื่อตรวจบันทึกการบำรุงรักษา สิ่งที่ผิดปกติมากๆก็คือรถคันนี้เปลี่ยนไฟตาไแล้วถึง สี่ครั้งในช่วงเวลาเพียงสัปดาห์เดียว
ต่อมาการสัมภาษณ์หัวหน้าแผนกซ่อมบำรุง เขาเองมีบุคคลิคคล้ายๆวิเชียร เขาโวยวายว่าสั่ง๙ื้อไฟตายี่ห้อหนึ่งแต่จัดซื้อที่นี่จะไปซื้ออีกยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นของเทียมอย่างแท้

ตรวจสอบเวลาที่ประยูรนำรถเข้าจากป้อมยามของคลัง พบว่าประมาณเที่ยงคืนสิบห้านาที ส่วนเวลาขณะเกิดเหตุประมาณเที่ยงคืนหกนาที ประยูรกลับออกไปราวๆเกือบเที่ยงคืนครึ่ง และเวลาประมาณเกือบตีสองมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาที่คลังแจ้งว่ารถบรรทุกเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ

ถึงตรงนี้ รู้หรือยังว่า เขาคนนั้นตายอยู่ก่อนหรือถูกเหยียบตาย รู้ได้อย่างไร
เรื่องราวยังไม่จบ ถ้าไม่สอบสวนดีๆ ก็คงจะสรุปเอาแค่ว่า ขับรถด้วยความประมาท ส่งไปอบรมให้ไม่ประมาท จบ

ประวัติศาสตร์เซฟตี้

 Abraham Maslow พูดถึงเซฟตี้ไว้เมื่อปี 1943 ว่าลำดับขั้นของความต้องการของคนนั้นมีอยู่เป็นลำดับๆ เริ่มตั้งแต่ความต้องการพื้นฐาน อย่างอาหาร อา...