แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Silicosis แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Silicosis แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บล็อกเจ้าปัญหา

CRYSTALLINE SILICA
 

“ถ้ามันเป็นซิลิกา มันก็ไม่ใช่แค่ฝุ่นธรรมดา”
นั่นคือความหมายของตัวอักษรที่ติดอยู่บนฉลากรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับซิลิกา ที่ออกโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เพื่อเตือนให้ผู้ใช้แรงงานมีความตระหนักถึงอันตรายและวิธีป้องกันโรคที่เกิดจากการสูดหายใจเอาคริสตอลไลน์ซิลิกาเข้าไป


คริสตอลไลน์ซิลิกาคืออะไร

ก่อนจะถึงตรงนั้น มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ซิลิกาที่เราพูดถึงอยู่นี้ คือ ซิลิกอนไดออกไซด์ (SiO2) ซึ่งจะมีอยู่สองรูปแบบคือ อะมอร์ฟัส และแบบคริสตอลไลน์ ซึ่งแบบหลังนี้จะมีการเรียงตัวของโมเลกุลในรูปแบบซ้ำๆกันเป็นโครงสร้างของผลึก (คนโบราณอ่านว่าผะหลึก ส่วนเด็กรุ่นแอนดรอย์ อ่านว่า ผอลึก- ครูภาษาไทยปัญญาอ่อนสอนกันมาแบบนี้แหละ)
 
  
 
คริสตอลไลน์ซิลิกา เป็นองค์ประกอบที่พบได้ในดิน ทราย หินแกรนิต และแร่อื่นๆมากมาย ตามธรรมชาติจะพบได้ใน 3 รูปแบบ คือ
 
 
 
1. ควอร์ทซ์ – Quartz เป็นรูปแบบที่พบได้มากที่สุดบนผิวโลก ที่เราเรียกมันว่า ทราย
 
 
 
2. คริสโตบาไลท์- Crystobalite
 
 
 
3. ทริดิไมท์ – Tridymite
 
 
 
ทั้งสามรูปแบบนี้จะไม่เกิดอันตรายใดๆเลยถ้าไม่ทำให้มันกลายเป็นฝุ่นแล้วสูดดมเข้าไป
 
 
 
คุณมีโอกาสได้รับคริสตอลไลน์ซิลิกาเข้าไปในปอดบ้างหรือยัง
 
 
 
บางคนที่ชักจะสงสัยว่าตัวเองจะมีโอกาสได้สัมผัส สูดดมเอาฝุ่นซิลิกาเข้าไปในปอดบ้างหรือยัง บ้างก็เกิดคำถามต่างๆตามมาติดๆ เช่นว่า
 
 
 
· คริสตอลไลน์ซิลิกา อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทไหนบ้าง
 
 
 
· อาชีพอะไรที่เสี่ยงต่อการสูดดมซิลิกา
 
 
 
· ผลิตภัณท์อะไรในชิวิตประจำวัน ชีวิตไม่ประจำวัน ชีวิตสุขี ชีวิตบัดซบ แล้วแต่ชีวิตใครชีวิตมัน
 
 
 
· แล้วมันอันตรายอย่างไร
 
 
 
· ถึงตายมั๊ย
 
 
 
· เป็นมะเร็งเก็งกอยมั๊ย
 
 
 
· ตายเร็วมั๊ย ทรมานรึเปล่า
 
 
 
· รักษาได้มั๊ย
 
 
 
· จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังเผชิญกับซิลิก้า
 
 
 
· จะป้องกันอย่างไร
 
 
 
บางคนก็ไม่ได้สนใจในคำถามพวกนั้นเลยแม้แต่น้อย เผลอยังแอบคิดว่า ทุกวันนี้ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับอย่างอื่นเยอะแยะ แค่ฝุ่นทราย มันจะอะไรกันนักกันหนา ว่าแล้วก็อัดบุหรี่บุ๋ยๆๆๆ เอ็นจอยกับมะเร็งจากนิโคตินกันต่อไป ถ้าคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มหลังนี่ ก็อย่าเสียเวลาอ่านต่อเลย เสียเวลาสูบบุหรี่เปล่าๆ เอาตามสบายเลยท่าน แต่ถ้าใครอยากรู้ ลองถามตัวเองต่อไปนี้ ถ้าคุณตอบว่าใช่ ในข้อใดข้อหนึ่ง ขอแนะนำให้อ่านบทความนี้จนจบ 
 

คุณทำงานหรือเคยทำงานประเภทนี้ หรือเคยใช้ของพวกนี้ ใช่หรือไม่


  • พ่นทราย
  • ทำถนน ราดยางมะตอย
  • เตาเผา
  • ผลิตปูนซิเมนต์
  • เซรามิค โถส้วม อ่างล่างหน้า ดินเผา ทำอิฐ ทำกระถางดิน
  • ผสมปูน
  • งานกรรมกร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการผสมปูน ฉาบ ก่อ
  • รื้อถอนสิ่งก่อสร้าง อาคาร
  • อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์
  • โรงหล่อ โรงหลอม ที่มีการหล่อแบบโลหะ การขัดแต่งชิ้นงาน งานรื้อถอดแบบไล่ทรายออกจะเสี่ยงมากเป็นพิเศษ
  • งานทำโมลด์ งานหล่อแบบ งานขึ้นรูป
  • เจาะพื้น กำแพง ด้วยเครื่องเจาะ
  • ผลิตกระดาษทราย ผ้าเบรก สบู่ แก้ว สี
  • งานเหมืองแร่
  • ซ่อม เปลี่ยน ไลนนิ่งในเตาเผา ในโรตารี่คิลน์
  • งานรีดโลหะ
  • งานติดตั้ง วาง ซ่อมรางรถไฟ
  • งานโลหะ เชื่อม เจีรย์ ขัดตัด
  • ก่ออิฐ เทคอนกรีต ขัดพื้น ขัดกระเบื้อง เลื่อย ตัดพื้น
  • งานขุดเจาะอุโมงค์

ถ้าถามว่า อาชีพไหนมั่ง ที่จะมีโอกาสได้เป็นโรคนี้กะเค้ามั่ง ก็นี่เลย

  • อาชีพคนงานก่ออิฐ ฉาบปูบ โบกตึก
  • กรรมกรเต็มขั้น
  • คนขับเครน
  • คนคุมเครื่องขัดเครื่องเจียร์ เครื่องบดแร่
  • คนคุมเตาอบ เตาเผาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร
  • คนงานขัด แต่งผิวงาน
  • คนงานขึ้นรูป ทำแบบหล่อโลหะ เซรามิค
  • คนขับเพย์โลดเดอร์ แบคโฮ รถขุด รถตัก รถบด รถเกรดดิน แร่
  • แม่บ้าน คนทำความสะอาด
  • ช่างยนต์
  • พนักงานคุมเครื่องโลหะ พลาสติค
  • คนแกะแบบและคุมเครื่องหล่อแบบ
  • คนงานคุมเครื่องจักรในเหมืองแร่
  • ช่างเชื่อม ช่างประกอบ

 แล้ววัสดุประเภทไหนมั่งล่ะ ที่พอจะมีซิลิกาให้สูดกันได้มั่ง (อยากลองมั่งง่ะ)

  • ผลิตภัณฑ์ขัดผิว เช่นกระดาษทราย ผ้าเบรค คลัทช์
  • ฝุ่นถ่านหิน
  • คอนกรีต
  • เศษดิน เศษผง
  • ทรายกรอง
  • กราไฟต์
  • ไมก้า
  • ผลิตภัณฑ์จากแร่
  • สี
  • แผ่นปูพื้น
  • ปูนซิเมนต์
  • เพอร์ไลต์
  • สารประกอบขัดผิวชิ้นงาน
  • ทราย
  • ซิลิเกต
  • ตะกรัน
  • หินสบู่
  • ดิน

 

มาถึงตอนนี้ บางคนที่ตอบเยสไปหลายข้อ อาจจะเริ่มกังวล แต่อย่าเพิ่งตกใจกระต่ายตื่นตูมไป ลองมาฟังคำโฆษณาเหล่านี้กันเสียก่อนที่จะกลัวจนเกินเหตุ

  • โรคปอดจากฝุ่นซิลิกา สามารถป้องกันได้ 100% ไม่ได้โม้ เพราะการป้องกันเป็นเพียงทางเดียวเท่านั้น
  • ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีระบบสาธารณสุข และการป้องกันการเจ็บป่วย มีระบบการรายงานที่ดีมากๆเมื่อเทียบกับประเทศสารขันธ์อย่างเรา มีคนเสียชีวิตจากโรคซิลิโคซิส ปีละ 300 ราย (เอง)
  • จากสถิติของอเมริกา เขายอมรับว่ามีผู้ใช้แรงงานราว 2 ล้าน (เอง) คนสูดดมและรอจะเป็นโรคนี้ในแต่ละปีอย่างกระวนกระวาย
  • ประเทศสารขันธ์ที่ระบบต่างๆกระปรกกระเปลี้ย รายงานมั่ง ไม่รายงานมั่ง มีรัฐมนตรีสาธารณสุขที่เป็นตำรวจ เป็นทหาร เป็นวิศวกร เป็นมาเฟีย เป็นที่ปรึกษาพรรค ยกเว้นคนที่มีความรู้ทางด้านสาธารณสุขจริงๆ ประเทศนี้ มีผู้ใช้แรงงานราวๆ 3 ล้านคน ไม่แน่ใจว่ามีใครเคยเป็นโรคนี้บ้างหรือเปล่า ส่วนมาก ไม่มีใครโวย ป่วยก็รักษา ตายมาก็เอาไปเผา ที่จะไปชันสูตรโรคหาสาเหตุนั้นอย่าฝัน รอให้ คสช.สั่งก่อน อาจจะมีความสุขกันในไม่ช้า ความสุขจะคืนมา ปาเทศสารขันธ์ ฮึมๆๆๆ
  • ถ้าไม่ได้สูดดมเอาฝุ่นขนาดเล็กที่เรียกว่า ฝุ่นที่เข้าถึงระบบทางเดินหายใจ/ถุงลมปอด –Respirable dust ก็ไม่น่าจะกังวลอะไรนัก แต่ถ้าไม่รู้ว่าสูดเข้าไปแล้วจะเป็นอย่างไร อ่านต่อให้จบ

โรคปอดจากซิลิกา




คริสตอลไลน์ซิลิกา ได้รับการจัดลำดับโดยสถาบันมะเร็งโลก – International Agency for Research on Cancer

ว่าเป็นสารก่อมะเร็งในปอดมนุษย์ ชัวร์ ไม่มีกั๊ก ไม่มีอึกอัก กึ่กกั่ก แบบกระทรวงสาธารณสุขประเทศสารขันธ์ ที่ เป็นก็บอกว่าอาจจะเป็น แบบว่า ครือ...เอ้อ อ้า ผมยังไม่ได้รับรายงาน..

ลักษณะของโรคปอดจากคริสตอลไลน์ซิลิกามีสามแบบ คือ

1. ซิลิโคสิส - Silicosis

2. ทูวเบอร์คิวโลซิส – Tuberculosis

3. มะเร็งปอด-Lung Cancer

ทีนี้ก็เลือกเอา ว่าจะเริ่มต้นแบบไหนก่อน ตามแต่กำลังทรัพย์ และความมุ่งมั่นที่จะเป็นโรคจากการทำงาน ด้วยการทำงานแบบสุ่มเสี่ยง หูหนวก ตาบอด ใจปิด ไม่คิดจะเปิดรับฟังข้อมูลอันใด เกิดมาชาตินี้ ขอพลีชีวิตเพื่อนาย ตายเพื่อบริษัท ว่างั้นเซฟตี้อย่าพูดมาก หุบปาก

อยากรู้มั๊ย ว่ามันเกิดอย่างไร และจะมีอาการอย่างไร ทรมานมั๊ย ตายเร็วมั๊ย ค่ารักษาแพงมั๊ย ส่วนที่ว่าบริษัทจะจ่ายมั๊ย จ่ายเท่าไหร่ จ่ายนานมั๊ย ตอบไม่ได้ ว่ากันไปตามกฎหมาย





จากรูปบนที่เห็นไอ้ตี๋นั่งหอบแฮ่กๆอยู่ เนื้อตัวมอมแมมไปด้วยฝุ่นซึ่งมีส่วนผสมของคริสตอลไลน์ซิลิกา โดยที่ไม่สามารถจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ฝุ่นซิลิกาขนาอเล็กมากๆ ( เล็กกว่า 0.5 ไมครอน ) ได้ถูกสูดเข้าไปทางรูจมูก เดินทางผ่านขนจมูก ฝุ่นบางส่วนถูกเยื่อเมือกที่ผนังในโพรงจมูกจับไว้ได้โดยละม่อม และจะกลายเป็นขี้มูกในเวลาต่อมา ส่วนที่เล็ดลอดไปถึงทางเดินหายใจบริเวณคอ ก็จะถูกดักไว้ด้วยเซลล์ที่มีขนและเยื่อเมือก จับฝุ่นไว้ได้บางส่วนและจะกลายเป็นเสลดในเวลาต่อมา ส่วนที่รอดไปได้จะเข้าสู่ท่อทางเดินหายใจส่วนล่างในปอด และเข้าสู่ถุงลมปอด ซึ่งเป็นถุงที่มีขนาดเล็กมากๆ มีเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำหุ้มอยู่ เรียกว่า อัลวิโอไล (Alveoli)


ในถุงลมปอดนี่เอง ที่เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปทางลมหายใจออก แต่ผลึกของซิลิกานี่สิมีปัญหา เพราะความที่มันเป็นผลึกที่มีความคม มันบาดผิวของถุงลมปอดให้เกิดแผล และนี่กระตุ้นการโต้ตอบของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย กองกำลังเซลล์ที่เรียกว่า มาโครฟาร์จจะพรูกันออกมา เข้าเขมือบสิ่งแปลกปลอมเพื่อกำจัดทำลาย แต่น่าอนาจ ฝุ่นซิลิกาไม่ได้ถูกทำลายโดยมาโครฟาร์จแต่กลับทำให้พวกมันล้มตาย แล้วปล่อยสารเคมีออกมานอกเซลล์ เป็นกลไกการทำให้เกิดการอักเสบ สารเคมีนี้ไปเรียกเอาเซลล์อีกพวกหนึ่งที่มีรูปร่างเหมือนพระจันทร์เสี้ยว พวกมันไม่กิน ผู้บุกรุก แต่จะใช้วิธี รุม แบบขอคืนพื้นที่ พวกมันกลุ้มรุมล้อมผลึกซิลิกาไว้ กลายเป็นเส้นใยผังผืด และนั่นทำให้ถุงลมปอด เต็มไปด้วยเซลล์และเส้นใย แลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ได้ แถมยังเกิดอาการอักเสบ

เปลี่ยนสภาพจากสารที่มาโครฟาร์จหลั่งออกมา และนี่คือเรื่องราวแบบย่อของโรคปอดที่เรียกว่า ซิลิโคซิส


ซิลิโคซิส อาการเป็นอย่างไร


 


โรคนี้แบ่งอาการออกเป็นสามแบบ คือแบบเรื้อรังซึ่งคลาสสิคมาก แบบเร่งรีบและสุดท้ายแบบเฉียบพลัน พูดมาถึงตรงนี้บางคนอาจจะหาว่ากวนประสาท

คือหยั่งงี้ แบบเรื้อรังหรือคลาสสิคนั้น เป็นกันมากที่สุด เรียกว่าฮ็อตฮิตที่สุดสำหรับคนที่ทำงานในที่ตรวจวัดฝุ่น เจอมั่ง ไม่เจอมั่ง มีแต่น้อยจนคิดกันเอาเองว่าไม่มีฝุ่นซิลิกา เลยไม่ทำอะไร ไม่ป้องกัน ถ้าเทียบกับการผ่อนไฟแนนซ์ คือดาว์นน้อยผ่อนนาน กว่าจะเกิดอาการก็ราวๆ 15-20 ปี เช่นบางคนตอนนี้อายุสี่สิบปี กว่าจะออกอาการให้เห็นก็ใกล้เกษียนนู่นแหละ พอเกษียนก็ตายพอดี ไม่มีใครสงสัยว่าตายเพราะอะไร นอกจากเข้าใจว่าแก่ตายเอง เพราะพวกนี้จะไม่เห็นอาการง่ายๆ เจออีกทีก็เอ็กซเรย์แล้วพบว่าปิดเป็นจุด ถึงตอนนั้นก็มีอาการหายใจไม่เต็มอิ่ม เหนื่อยง่าย หอบง่าย เจ็บหน้าอก เพราะปอดแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้น้อย เนื่องจากถุงลมปอดกลายเป็นสุสานสำหรับมาโครฟาร์จและเต็มไปด้วยผังผืด ผลการตรวจความจุและความยืดหยุ่นของปอดตอนสิ้นปีจะบอกให้รู้ แต่บริษัทไหนที่ไม่ตรวจ หรือตรวจแต่ไม่มีคนมีความรู้มาแจ้งผล ก็แย่หน่อย (แบบว่าผลตรวจอยู่ในลิ้นชักแผนกไหนซักแห่ง)



ส่วนอาการแบบที่สองที่เรียกว่า Accelerated Silicosis หรือแบบเร่งรีบเกิดอาการป่วย ก็คือพวกที่ทำงานแล้วสูดดมฝุ่นที่มีปริมาณมากๆ ประเภทที่ว่า ฟุ่นคลุ้งทั้งวี่ทั้งวัน ระบบดูดฝุ่นมีแต่ไม่เวิร์ค หน้ากากมีแต่ไม่ใส่ พวกนี้รับฝุ่นเข้าปอดเต็มๆ แน่ละ ไอ้พวกมาโครฟาร์จทำงานหนัก ตายเป็นเบือ ถุงลมปอดอุดตันไม่ใช่แค่ถุงสองถุง เกิดอาการให้เห็นในระยะ 5-10 ปี ทันใจไม่ต้องรอนาน พวกนี้หายใจไม่สะดวก หอบ เหนื่อย น้ำหนักตัวลด ใครไม่รู้ก็หาว่าเป็นอย่างอื่น เป็นเอดส์มั๊ง เพราะยังหนุ่มยังแน่น หารู้ไม่ ปอดเป็นจุดขาวเต็มไปหมด

ส่วนพวกสุดท้ายหนักกว่าเพื่อน เพราะใช้เวลาแค่ไม่กี่เดือน หรือสองปี ได้เห็นผลแน่นอน พวกนี้เจอฝุ่นแบบไม่มีอะไรป้องกัน ฝุ่นที่มีซิลิกามากๆ อย่าพ่นทรายแล้วไม่ใช้อะไรป้องกัน พ่นทั้งวัน พวกปอดเหล็ก แบบนี้ ไม่ต้องรอนาน ได้ฟังพระสวดเร็วหน่อย ไม่ลำบากญาติพี่น้อง เฝ้าไข้ไม่นาน โรงพยาบาลไม่เปลืองยา ถ้าคุณเป็นจำพวกนี้ ท่องรอไว้เลย กุสะลาธรรมมา อกุสะลาธรรมมา อัพพะยากะตา...


แง่มุมทางกฎหมาย

แต่ละประเทศกำหนดค่ามาตรฐานที่เรียกว่า PEL- Permissible Exposure Limit หรือแปลเป็นไทยว่า ค่าความเข้มข้นของสิ่งที่เจือปนในบรรยากาศที่อนุญาตให้มีได้ (โดยที่กฎหมายบอกว่าปลอดภัย นายจ้างไม่ต้องกังวล ลูกจ้างห้ามโวย)

ประเทศออสเตรเลีย กำหนดว่า ห้ามมีฝุ่นคริสคอลไลน์ซิลิกาขนาดที่เข้าถึงถุงลมปอดได้ไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตลอดระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง

NIOSH ของสหรัฐ กำหนดให้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อ ลบม.

ประเทศสารขันธ์ กำหนดให้มีฝุ่นขนาดเล็กที่เข้าถึงถุงลมปอด เจือปนให้ลูกจ้างสูดดมได้ตามสบาย ไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คงเป็นเพราะว่าท่านผู้ปกครองประเทศเล็งเห็นว่าคนไทยมีความอึด ทนทานต่อการเกิดโรคมากกว่าชาติอื่นๆ จึงกำหนดค่าความสกปรกของอากาศไว้สูง นับเป็นเกียรติของผองเราชาวกรรมกรไทยเป็นอย่างยิ่ง ส่วนฝุ่นควอทซ์ประเทศเรากำหนดไว้ เป็นสูตรคำนวณ คือ 10 mg/M3 % SiO2+ 2


รู้ได้อย่างไรว่าไม่เกินมาตฐานตามกฎหมาย



ก็ต้องทำการตรวจวัดและวิเคราะห์ ซึ่งจะไม่ขอกล่าวรายละเอียดไว้ในส่วนนี้ แต่ง่ายๆสั้นๆก็คือ ต้องมีผู้ที่มีความรู้ทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม จึงจะเข้าใจเทคนิค วิธีการเก็บ วิเคราะห์ตัวอย่างอากาศ



ว่าแต่ว่า คุณรู้หรือไม่ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นฝุ่นที่อาจจะมีคริสตอลไลน์ซิลิกา เจือปนอยู่ อะไรบ้างที่เป็นส่วนผสมที่ของวัตถุดิบ ในกระบวนการผลิตของเราที่น่าจะมีคริสตอลไลน์ซิลิกา



ฉบับหน้าจะมาเล่าให้ฟัง เพราะฉบับนี้ก็ปาเข้าไปเจ็ดหน้ากระดาษ เวลาเขาปรินท์ไปให้อ่าน เขาจะเย็บรวมกัน เอาไปติดบอร์ดเป็นปึกเดียว บางที่บอร์ดมีกระจกล็อคกุญแจ อ่านได้หน้าเดียว (เขียนเกือบตาย ถุย) ซึ่งส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีใครอ่าน ถึงอ่านก็ไม่ค่อยมีใครเอาไปเล่าต่อ ถึงเล่าต่อก็ไม่มีใครสนใจ ชีวิตมันก็แบบนี้แหละ อยู่กันไป ขำๆ





 

 

 

 


ประวัติศาสตร์เซฟตี้

 Abraham Maslow พูดถึงเซฟตี้ไว้เมื่อปี 1943 ว่าลำดับขั้นของความต้องการของคนนั้นมีอยู่เป็นลำดับๆ เริ่มตั้งแต่ความต้องการพื้นฐาน อย่างอาหาร อา...