วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2567

สลดแล้ว สลดอีก สลดกันต่อไป

 




ขอหักมุมจากเรื่องฮาฮา มาเป็นเรื่องสลดหดเหี่ยวกันหน่อย ว่าเวลาที่คนงาน บาดเจ็บ ล้มตายกันแต่ละที เหตุการณ์ต่อจากนั้นมันเป็นยังไง ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

ตัวอย่าง พอเกิดเหตุ คนงานลงไปตายในบ่อบำบัดน้ำเสีย คนงานที่มาประสบเหตุก็จะตกอกตกใจ โวยวาย บางคนก็กระโจนลงไปกะว่าจะช่วยเพื่อน บางคนก็วิ่งไปบอก ไปโทรหาหัวหน้า หัวหน้าก็โทรหา ผู้จัดการ ผู้จัดการโทรหาผู้จัดการ ผู้จัดการโทรหาผู้จัดการ จังหวะนี้ อาจจะมีคนที่พอมีสติโทรหารถพยาบาล โทรไม่ติด โทรติดไม่มีคนรับ มีคนรับพูดไม่รู้เรื่อง เอาเป็นว่า รถหวอคันแรกที่มาถึงก็มักจะเป็น กู้ภัย พระเอกตัวจริงของไทย กู้ภัยก็รีบลงไปช่วยกู้ศพขึ้นมา ตำรวจมาพอดีเลย อีกสักพักหมอก็มา ชันสูตรพลิกศพ ที่ถูกแบกขึ้นมาแล้ว ตามกฏหมาย มาตรา 34 พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย 2554 นายจ้าง ซึ่งก็มักจะเป็นผู้บริหารใหญ่ๆโตๆ ยศระดับ ผอ. ผจ. ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนนายจ้าง หรือถ้าเป็นโรงงานเล็กๆ ก็เจ้าของโรงงานนั่นแหละ ต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในทันทีที่ทราบ โดยโทรศัพท์ โทรสาร หรือวิธีอื่นใดที่มีรายละเอียดพอสมควร และให้แจ้งรายละเอียดและสาเหตุ เป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างเสียชีวิต  ถ้าไม่แจ้ง มีสิทธิ์โดนปรับ ห้าหมื่นบาทกันเลยเชียว ส่วนว่าแจ้งไปแล้ว พี่เค้าจะมาเลย หรือไม่มา นั่นมันก็ขึ้นอยู่กับพี่เค้าแหละ ส่วนใหญ่ ถ้าไม่เป็นข่าวครึกโครม พี่เค้าก็จะไม่ค่อยมาหรอก มาทีนึงพี่ๆเค้าก็จะยังไม่ว่าอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็จะแค่บอกว่า จ่อๆ หรือเล็งๆ เอาผิดนายจ้าง ไม่รู้ว่าที่เล็งๆจ่อๆ มีลั่นไกไปมั่งรึยัง 



อย่างกรณีเครนถล่ม แถวพระรามสาม ก็จ่อเอาผิดนายจ้าง เหมือนกัน 

ตัดฉากกลับมาที่ เจ้าพนักงานสอบสวน เขาก็มาสอบๆไป ส่วนใหญ่ ก็ประเด็นไว้กว้างๆก่อน ว่า เป็นอุบัติเหตุ หรือ ความประมาท  พี่ๆพนักงานสอบสวนเค้าไม่ค่อยมีอะไรสลับซับซ้อน เค้าเล็งมาที่ 

มาตรา 291 "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"
องค์ประกอบความผิด (1) ผู้ใด (2) กระทำโดยประการใด (3) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (4) โดยประมาท (องค์ประกอบภายใน (ไม่ต้องมีเจตนา))


การกระทำโดยประมาท คือ การกระทำที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังทั้งๆที่สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 59 วรรคสี่ "กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่"

สอบคนงานที่ทำงานแถวๆนั้น สอบหัวหน้างาน สอบเจ้าของโรงงาน สอบไปสอบมา ก็อาจจะแจ้งข้อหา คนงานด้วยกันที่บังเอิ้น รอดตายมาได้ หรือไม่ก็หัวหน้างาน รึไม่ก็ไฟร์แมน ส่วนบรรดานายจ้างรอดแน่นอน ก็หลักฐานมันไปไม่ถึง ไม่เข้าองค์ประกอบ 

ส่วน เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน ถ้าจะหยิบเอา มาตรา ๘ ให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กําหนดในกฎกระทรวง มาเลียบๆเคียงๆ ถ้าไม่กล้าถาม ก็อ้อมๆแอ้ม ถามก็ได้ อย่างเช่น กรณีคนงานลงไปตายในบ่อบำบัดน้ำเสียนั้น เขาลงไปทำอะไรกัน ลงไปนั่งเล่นเหรอ ถ้านายจ้างจะบอกว่าไม่รู้ คำถามต่อมาก็ลองอ้อมแอ้มถามดูก็ได้ว่า ทางเข้าทางออก ไม่ได้ปิดกันไม่ให้มีคนลงไปโดยพละการดอกรึ ลองหยิบ กฏกระทรวงเรื่องที่อับอากาศมาไล่นิ้วดู มีกี่ข้อที่นายจ้างไม่ได้ทำตาม แล้วแบบนี้ ถือว่านายจ้างละเมิด มาตรา 8 วรรคแรก ใน พรบ.ความปลอดภัยมั้ย ถ้าใช่ ก็มีบทลงโทษในมาตรา 53 หรือถ้าสอบไปสอบมา การณ์ปรากฏว่า มี ผจ. ผอ.นั่นแหละเป็นคนสั่ง บังคับให้ลงไป แถมรั้นอีกว่า ลงไปล้างแป๊บเดียวเอง จป.ท้วงว่ามันคือที่อับอากาศ ก็เถียงตาปูดตาปลิ้นว่าไม่ใช่ รูเบ้อเร่อเบ้อเถร มันจะอับได้ยังไง แบบนี้ ก็มาตรา 69 เลยครับ 

มาตรา ๖๙ ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้น เกิดจากการสั่งการ หรือการกระทําของบุคคลใด หรือเกิดจากการไม่สั่งการ หรือไม่กระทําการอันเป็นหน้าที่ ที่ต้องกระทําของกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

เชื่อผมมั้ย ว่าส่วนใหญ่ ลูกจ้างตายไปแต่ละที ไม่เคยมีนายจ้างโดนลงดาบด้วย พรบ.ความปลอดภัยเลย ฆ่าตัดตอนกันด้วย มาตรา 291 เร็ว ครบ จบง่ายดี ส่วนลูกจ้าง ยังไงก็ไปร้อง กองทุนเงินทดแทนเอาละกัน สลดแล้ว สลดอีก สลดกันต่อไป 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ติดคุกเพราะชำนาญการ

 พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มีข้อกำหนดมากมายหลายมาตรา รับกันมาเป็นทอดๆ ไล่ไปตั้งแต่มาตรา 4 ที่เ...