แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Accident Investigation แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Accident Investigation แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2567

พระรามสยอง ปลาร้าสยิว

 ข่าวสะเทือนใจกลางปีนี้ก็คงหนีไม่พ้นรถบัสนรกที่ย่างสดนักเรียนไปกว่า 20 ชีวิต และเขย่าขวัญกันด้วยข่าว Launcher Gantry ถล่มที่ถนนพระรามสยอง ต่อด้วยข่าวบ่อปลาร้าสยิวที่คร่าชีวิตไป 5 ศพ 😐


มีคนถามขึ้นดังๆว่า ก็ในเมื่อมี จป.วิชาชีพเป็นแสนคน จป.หัวหน้างานอีกหลายแสนคน จป.บริหารอีกมากมาย ทำไมยังเกิดอุบัติเหตุไม่หยุด 

บ้างก็ข้อนขอดว่า มีกฏหมา(ย)มากมายจากแต่ละกระทรวง ทบวง กรม นี่ไม่นับรวมบรรดาประกาศ คำสั่งที่ออกโดยคณะปฏิวัติ ก็แล้วทำไมไม่ดีขึ้นบ้างเลย

มีผู้รู้ กูรู้ กูไม่รู้แต่แกล้งรู้ กูปีนเสาก็เลยรู้ กูโดนกระโถนฟาดก็เลยรู้  และบรรดาดอกเตอร์ ดอกแต๋ว มากมาย ทำไมเราไม่สามารถหาข้อยุติแล้วเอาไปแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

มีอะไรที่คล้ายคลึงกันและเป็นแกนกลางของปัญหาเหล่านั้น 

ถ้าเป็นเมื่อสมัยปี 1930 Herbert William Hienrich ก็จะบอกว่า ความยากจนไง ประเทศที่ยากจน คนยากจน เวลาทำอะไรแต่ละอย่าง มันก็ไม่คิดอะไรหรอก เพราะงานมันต้องรีบ ต้องเร่ง ต้องเสร็จ ไม่งั้นไม่ได้ค่าจ้าง มีอะไรก็ใช้ไปก่อน จะไปเอาอะไรหรูหราหมาเห่า เขาไม่ซื้อมาให้ใช้หรอก เรื่องความตระหนัก ไม่ต้องถามหา ก็มันจน จะเอาเงินที่ไหนไปเรียนรู้ ดูได้อย่างดีก็ติ๊กต่อก คำว่าอย่าทำอย่างนี้ ไม่มีหรอก ไม่ทำแล้วใครจะทำ  ส่วนพวกเซฟตี้จะไปหือไปอืออะไรได้ มีงานให้ทำก็ดีตายห่าแล้ว นายสั่งก็ต้องทำ ส่วนไอ้พวกเซฟตี้ซ่าๆก็ไปนั่งเขียนบล็อกอยู่นั่นไง เขาไล่ออก เพราะพูดมาก เฮ่อๆๆๆ วงจรโง่จนเจ็บ มันไม่ใช่แค่คน บริษัทก็เหมือนกัน ของขายไม่ดีจะเอาเงิน เอาทรัพยากรที่ไหนมาใส่ลงไปในเรื่องความปลอดภัย มันก็ต้องกำไรก่อนเรื่องแรก ส่วนระดับชาติ ก็โกง กิน คอรัปชั่นกันทุกระดับ อย่าให้ต้องสาธยาย อย่างกรณีรถทัวร์นรกนั่น ป่านนี้ จับคนโกงได้กี่คน ส่วนเรื่องเครนถล่ม คงไม่ต้องสาวไปไกลๆ จับตรงไหนก็เจอ รึใครจะเถียง 

ถ้าเป็นสมัยปี 1996 Frank E.Bird ก็บอกว่า มันเพราะระบบการจัดการไม่ดี ไม่มีมาตรการที่เพียงพอ ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน หรือถ้ามี ก็ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน อะไรๆก็เลย ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสักเรื่อง แล้วก็ลงเอยด้วยอุบัติเหตุไง เออๆๆๆ ฟังดูเข้าท่า ประเทศจนๆ มักจะมีกฏหมายมากมายจนคนออกกฏหมาย คนใช้กฏหมายและคนเดินดินงงไปตามๆกัน แต่กฏหมายที่มีส่วนใหญ่ สักแต่ว่ามี ต้องมี เพราะดันไปเซ็นตกลงในองค์กรระดับโลกมา เลยต้องตามน้ำ ไม่งั้นโลกเขาไม่นับญาติด้วย พอมีกฏหมายมากๆเข้า มีหน่วยงานมากๆเข้าคราวนี้งงครับ เพราะไม่รู้ใครต้องทำอะไร ไม่มีเจ้าภาพ มีแต่เจ้านายตัดริบิ้นเสร็จ ไม่มีคนทำงาน มีแต่ภารโรง คราวนี้ก็ต้องบูรณาการ อีคำนี้ถ้าหมายถึง Integration ผมก็เห็นด้วย แต่ถ้าเป็นแค่คำสวยๆในการประกาศภาระกิจในเว็ปไซท์ของกระทรวง ผมก็ว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย 

ปี 2000 ดอกเตอร์ Jame Reason ก็อธิบายว่าความห่วยแตกทั้งหลายมันก็เหมือนรูที่เกิดจากฟองอากาศในแผ่นชีส คนในประเทศจนๆไม่ค่อยได้กินชีสก็นึกไม่ค่อยออก Swiss Cheese Model อธิบายความล้มเหลวไว้สองประเภท ได้แก่ Latent Failure หรือความล้มเหลวที่ซ่อนเร้นมาเนิ่นนาน กับความล้มเหลวแบบ Active Failure เป็นความล้มเหลวที่เกิดขึ้นแล้วตูมตามเลย จริงๆแล้วทั้งสามคนพูดไว้ไม่ผิดเลย ความเห็นของ H.W. Heinrich กับ James Reason คล้ายกันตรงเรื่องคน แต่ต่างกันก็ตรงที่เพิ่มเติมว่าความห่วยแตกนั้นมันไม่ได้มาจากคนงานอย่างเดียว องค์กรนี่ก็เป็นต้นเหตุสำคัญ 

อย่างกรณีรถบัสย่างสดเด็กๆ มันก็เป็นแค่ฝีที่แตกออกมาก่อน ถ้าไม่เกิดเหตุนี้ก็อาจจะได้เห็นกรณีรถขนบรรดาพวก อบต. อบจ. ที่กำลังเดินทางท่องเที่ยวด้วยขบวนรถบัสอย่างคึกคัก เพราะจะสิ้นปีแล้วต้องผลาญงบประมาณให้หมด ตอนนี้ถนนจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยววัยเก๋า ไปกันทีเป็นขบวนยาวเหยียด เดี๋ยวสิ้นปีแล้ว พอเดือนกุมภาก็เลือกตั้งกันใหม่ บางจังหวัดก็มีเรื่องยิงกันตูมตามตายคาบั้น ป่านนี้ยังหาคนยิงไม่เจอ ถ้าเด็กเหล่านั้นไม่ตายก่อน ก็คงได้เห็นทัวร์นรกอีกหลายคันเลยทีเดียว สงสารพวกหนูจัง 

กรณีบ่อปลาร้านั่น ก็เป็นความห่วยของกฏหมายที่มีแต่ไม่บังคับใช้อย่างรัดกุม สถานประกอบกิจการแบบนี้จะว่าเป็นโรงงานรึเปล่า กรมที่เขาดูแลโรงงานอาจจะส่ายหัวดิกๆเกาหัวยิกๆ ส่วนกรมที่เขาดูแลลูกจ้างก็อาจจะไม่อยากออกตัวแรง กลัวงานเข้า ส่วนกลไกที่วางไว้อย่างเช่น จป.ระดับต่างๆ อย่าง จป.หัวหน้างาน จป.บริหาร จป.เทคนิค อย่างหลังนี่ไม่มีแน่เพราะคนงานไม่ถึงเกณฑ์ ต่อให้ถึงเกณฑ์ ใครจะบอก ส่วนกฏกระทรวงที่อับอากาศ อย่าไปหวังว่าจะเอาไทำ ขนาดเกิดเรื่องแล้วยังไม่มีการลงมืออะไรเลย 

เอาเป็นว่า ปัญหาใหญ่ๆของความปลอดภัยในประเทศจนๆ เอาทฤษฎีไหนมาอธิบาย มันก็น้ำตาจะไหลทุกอัน เพราะมันใช่ไปหมด อย่างกรณีเครนล้ม เครนหัก เครนหลุด ขนาดมีกฏกระทรวงกำหนดมาตรฐานเรื่องเครน เรื่องการตรวจ การออกแบบ การติดตั้ง การใช้งาน มีกฏกระทรวงสี่ผู้ ผมเพิ่มให้อีกผู้ คือผู้ต้องหา ยังล้มกันรายวัน คุณว่ามันเกิดจากอะไร ผีผลัก ไม่มีมาตรฐาน หรืออะไร ใครก็ได้ช่วยตอบที

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ขอให้วิญญานหนูน้อยและคุณครูไปสู่สุขคติ



ไม่สามารถทนดูภาพได้จนจบ น้ำตามันไหล 


ข่าวไฟไหม้ รถบัส คร่าชีวิตเด็กนักเรียนและครูที่ติดอยู่ในรถ ภาพไฟที่ลุกโหมท่วมตัวรถมันทำให้อเนจอนาถใจ ความร้อนขนาดนั้นคงไม่มีใครจะรอดออกมาได้

ยิ่งมาได้ฟังข้อมูลเกี่ยวกับการติดตั้งถังแก็สในตัวรถจำนวนมากมาย โดยไม่ต้องใช้อคติ ใดๆในการตั้งคำถาม ว่าติดเข้าไปได้ยังไง แล้วที่ว่าผ่านการตรวจโดยขนส่งทุกๆสองปี มันตรวจกันยังไงถึงได้ผ่านการอนุมัติ 

ส่วนเรื่องคนขับ พนักงานประจำรถอะไรอีกสาระพัดสาระเพ มันยิ่งทำให้เห็นว่า Transportation Safety Management -TSM ที่กรมการขนส่งได้ริเริ่มเอาไว้ มันก็แค่กระดาษ  ผมจะรอดูว่างานนี้ จะเอาผิดเปิดโปงไปได้สักกี่คน สุดท้ายก็คงเงียบๆไปเหมือนเรื่องกำนันนก เรื่องส่วยสติ๊กเกอร์ 

ประสบการณ์ที่ต้องไปติดต่อกับขนส่งแต่ละที มันหงุดหงิด มันหากินกันเป็นกระบวนการ ขนาดเรื่องกระจอกๆอย่างใบรับรองแพทย์ มันยังเอาเลยครับ ใบรับรองแพทย์จากที่อื่นใช้ไม่ได้ ต้องเป็นคลีนิกเล็กๆแถวนั้นแหละ มอเตอร์ไซค์พาไปถูก ขอบอก  ส่วนกรณีทะเบียนขาด มีร้านมากมายแถวๆนั้นรับจัดการให้ ถนนราคาไม่ธรรมดา แลกเอากับความสะดวก ส่วนเรื่องรถโดยสาร รถขนาดใหญ่ เขาตรวจกันแบบไหน ไม่รู้ มารู้อีกทีก็ตอนไฟไหม้คลอกเด็กๆตายนี่แหละ 

ที่นี่ประเทศไทย ประเทศที่ได้รับการบันทึกโดยองค์การ WHO ว่ามีอุบัติเหตุทางถนนอันดับสองของโลก และติดอันดับหนึ่งในเอเชียไม่มีใครแซง 

ประเทศไทย
  



วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2567

สลดแล้ว สลดอีก สลดกันต่อไป

 




ขอหักมุมจากเรื่องฮาฮา มาเป็นเรื่องสลดหดเหี่ยวกันหน่อย ว่าเวลาที่คนงาน บาดเจ็บ ล้มตายกันแต่ละที เหตุการณ์ต่อจากนั้นมันเป็นยังไง ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

ตัวอย่าง พอเกิดเหตุ คนงานลงไปตายในบ่อบำบัดน้ำเสีย คนงานที่มาประสบเหตุก็จะตกอกตกใจ โวยวาย บางคนก็กระโจนลงไปกะว่าจะช่วยเพื่อน บางคนก็วิ่งไปบอก ไปโทรหาหัวหน้า หัวหน้าก็โทรหา ผู้จัดการ ผู้จัดการโทรหาผู้จัดการ ผู้จัดการโทรหาผู้จัดการ จังหวะนี้ อาจจะมีคนที่พอมีสติโทรหารถพยาบาล โทรไม่ติด โทรติดไม่มีคนรับ มีคนรับพูดไม่รู้เรื่อง เอาเป็นว่า รถหวอคันแรกที่มาถึงก็มักจะเป็น กู้ภัย พระเอกตัวจริงของไทย กู้ภัยก็รีบลงไปช่วยกู้ศพขึ้นมา ตำรวจมาพอดีเลย อีกสักพักหมอก็มา ชันสูตรพลิกศพ ที่ถูกแบกขึ้นมาแล้ว ตามกฏหมาย มาตรา 34 พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย 2554 นายจ้าง ซึ่งก็มักจะเป็นผู้บริหารใหญ่ๆโตๆ ยศระดับ ผอ. ผจ. ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนนายจ้าง หรือถ้าเป็นโรงงานเล็กๆ ก็เจ้าของโรงงานนั่นแหละ ต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในทันทีที่ทราบ โดยโทรศัพท์ โทรสาร หรือวิธีอื่นใดที่มีรายละเอียดพอสมควร และให้แจ้งรายละเอียดและสาเหตุ เป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างเสียชีวิต  ถ้าไม่แจ้ง มีสิทธิ์โดนปรับ ห้าหมื่นบาทกันเลยเชียว ส่วนว่าแจ้งไปแล้ว พี่เค้าจะมาเลย หรือไม่มา นั่นมันก็ขึ้นอยู่กับพี่เค้าแหละ ส่วนใหญ่ ถ้าไม่เป็นข่าวครึกโครม พี่เค้าก็จะไม่ค่อยมาหรอก มาทีนึงพี่ๆเค้าก็จะยังไม่ว่าอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็จะแค่บอกว่า จ่อๆ หรือเล็งๆ เอาผิดนายจ้าง ไม่รู้ว่าที่เล็งๆจ่อๆ มีลั่นไกไปมั่งรึยัง 



อย่างกรณีเครนถล่ม แถวพระรามสาม ก็จ่อเอาผิดนายจ้าง เหมือนกัน 

ตัดฉากกลับมาที่ เจ้าพนักงานสอบสวน เขาก็มาสอบๆไป ส่วนใหญ่ ก็ประเด็นไว้กว้างๆก่อน ว่า เป็นอุบัติเหตุ หรือ ความประมาท  พี่ๆพนักงานสอบสวนเค้าไม่ค่อยมีอะไรสลับซับซ้อน เค้าเล็งมาที่ 

มาตรา 291 "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"
องค์ประกอบความผิด (1) ผู้ใด (2) กระทำโดยประการใด (3) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (4) โดยประมาท (องค์ประกอบภายใน (ไม่ต้องมีเจตนา))


การกระทำโดยประมาท คือ การกระทำที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังทั้งๆที่สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 59 วรรคสี่ "กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่"

สอบคนงานที่ทำงานแถวๆนั้น สอบหัวหน้างาน สอบเจ้าของโรงงาน สอบไปสอบมา ก็อาจจะแจ้งข้อหา คนงานด้วยกันที่บังเอิ้น รอดตายมาได้ หรือไม่ก็หัวหน้างาน รึไม่ก็ไฟร์แมน ส่วนบรรดานายจ้างรอดแน่นอน ก็หลักฐานมันไปไม่ถึง ไม่เข้าองค์ประกอบ 

ส่วน เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน ถ้าจะหยิบเอา มาตรา ๘ ให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กําหนดในกฎกระทรวง มาเลียบๆเคียงๆ ถ้าไม่กล้าถาม ก็อ้อมๆแอ้ม ถามก็ได้ อย่างเช่น กรณีคนงานลงไปตายในบ่อบำบัดน้ำเสียนั้น เขาลงไปทำอะไรกัน ลงไปนั่งเล่นเหรอ ถ้านายจ้างจะบอกว่าไม่รู้ คำถามต่อมาก็ลองอ้อมแอ้มถามดูก็ได้ว่า ทางเข้าทางออก ไม่ได้ปิดกันไม่ให้มีคนลงไปโดยพละการดอกรึ ลองหยิบ กฏกระทรวงเรื่องที่อับอากาศมาไล่นิ้วดู มีกี่ข้อที่นายจ้างไม่ได้ทำตาม แล้วแบบนี้ ถือว่านายจ้างละเมิด มาตรา 8 วรรคแรก ใน พรบ.ความปลอดภัยมั้ย ถ้าใช่ ก็มีบทลงโทษในมาตรา 53 หรือถ้าสอบไปสอบมา การณ์ปรากฏว่า มี ผจ. ผอ.นั่นแหละเป็นคนสั่ง บังคับให้ลงไป แถมรั้นอีกว่า ลงไปล้างแป๊บเดียวเอง จป.ท้วงว่ามันคือที่อับอากาศ ก็เถียงตาปูดตาปลิ้นว่าไม่ใช่ รูเบ้อเร่อเบ้อเถร มันจะอับได้ยังไง แบบนี้ ก็มาตรา 69 เลยครับ 

มาตรา ๖๙ ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้น เกิดจากการสั่งการ หรือการกระทําของบุคคลใด หรือเกิดจากการไม่สั่งการ หรือไม่กระทําการอันเป็นหน้าที่ ที่ต้องกระทําของกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

เชื่อผมมั้ย ว่าส่วนใหญ่ ลูกจ้างตายไปแต่ละที ไม่เคยมีนายจ้างโดนลงดาบด้วย พรบ.ความปลอดภัยเลย ฆ่าตัดตอนกันด้วย มาตรา 291 เร็ว ครบ จบง่ายดี ส่วนลูกจ้าง ยังไงก็ไปร้อง กองทุนเงินทดแทนเอาละกัน สลดแล้ว สลดอีก สลดกันต่อไป 





วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

คำบอกเล่าของประยูร - การสัมภาษณ์พยาน

ประยูร กับผม สบตากันแว่บหนึ่งก่อนจะเริ่มพูดคุย เขายกมือไหว้แบบกลัวๆ สายตาคู่นั้นหวาดหวั่นกับการที่จะต้องนั่งอยู่เบื้องหน้าผู้จัดการความปลอดภัย และคณะทำงานสอบสวนอุบัติเหตุอีกสองสามคน
ผมกล่าวกับประยูรอย่างเป็นกันเองด้วยการแนะนำตัวและบอกให้เขาทราบว่าวัตถุประสงค์ของการสอบสวนอุบัติเหตุนั้นก็เพื่อจะค้นหาความผิดปกติของระบบบริหารจัดการ และนำไปป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำขึ้นอีก และยังบอกให้ประยูรรู้ว่าเราจะสอบถามเรื่องราวต่างๆ ที่ประยูรสามารถบอกเล่าได้ โดยระหว่างนั้นเราจะทำการจดบันทึก และจะให้เขาดูอีกครั้งหลังจากการพูดคุยกัน ที่ต้องบอกว่าเราจะจดคำให้การ ก็เพื่อให้เขาไม่รู้สึกอึดอัดว่ากำลังถูกรีดข้อมูลและจดอย่างเอาเป็นเอาตาย  ผมยังอธิบายให้ประยูรทราบคร่าวๆถึงขั้นตอนในการสอบสวนอุบัติเหตุ และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ และยินดีที่จะรับฟังคำแนะนำ และข้อเสนอแนะจากประยูรที่จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ การสร้างบรรยากาศเป็นกันเองทำให้ประยูรดูผ่อนคลายลงไปมาก

ประยูรเล่าว่า ขับรถออกจากปั๊มน้ำมัน ตอนนั้นก็ใกล้เที่ยงคืนแล้ว ฝนตกปรอยๆ เมื่อมาถึงแถวๆหน้าประตูบริษัทเกษตรรุ่งเรือง ที่อยู่ก่อนถึงทางเข้าคลังประมาณ 500 เมตร เขาเห็นอะไรตะคุ่มๆบนถนน ผมขอให้ประยูรเล่าตรงนี้ซ้ำว่า ที่เห็นอะไรตะคุ่มๆนั้นประมาณสักกี่เมตร เขากะระยะคร่าวๆจากหน้าห้องถึงหลังห้อง ก็ประมาณ 8 เมตร ตรงนี้ผมจดโน็ตลงไปข้างๆคำบอกเล่าของประยูรว่า จะหาข้อมูลเกี่ยวกับไฟตารถ ประยูรบอกว่าเขาไม่ได้แตะเบรกเลย และเขาคร่อมสิ่งนั้นไปก่อนจะได้ยินเสียงเหมือนล้อหน้าเหยียบไปบนอะไรบางอย่างแตกโพละ ประยูรบอกว่าจอดลงไปดู โดยปิดไฟหน้ารถก่อน และเห็นศพกับมอเตอร์ไซค์ เขาพยายามเดินหน้า ถอยหลังจนหลุดแล้วรีบขับรถเข้าไปจอดในศูนย์จัดส่ง เสร็จแล้วจึงแจ้งกับหัวหน้ากะว่าตนไม่ค่อยสบาย จะขอกลับไปนอนพักผ่อน

ระหว่างการสัมภาษณ์ เราถามประยูรว่า เมื่อตรวจดู SW-100 พบว่าเขาใช้ความเร็วโดยเฉลี่ยเกือบๆ 70 กม./ชม. เหตุใดจึงใช้ความเร็วขนาดนั้นทั้งๆที่ฝนตกปรอยๆและเขาเองก็บอกว่ามองทางไม่ค่อยถนัด ประยูรโอดครวญว่า ผมกะว่าจะมารับแก็สอีกสักเที่ยวแล้วจะออกไปอีกรอบ ถ้าขับช้ากว่านี้ผมก็ไม่พอกินหรอกครับ พูดถึงตรงนี้  จึงขอให้เขาเล่าขยายความให้ฟัง ประยูรเล่าเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนเหนือ เลิกกับภรรยาเก่าและมีภรรยาใหม่ แต่ยังต้องมีภาระส่งเสียทั้งสองทาง รายได้หลักมาจากเขาทั้งหมด การจ่ายเงิน รวมกับค่าเที่ยว ยิ่งทำเที่ยวได้มาก ยิ่งจะพอได้ใช้จ่ายไปเดือนๆหนึ่ง

ประยูรยืนยันว่าตนได้ตรวจสอบรถก่อนออกเดินทาง และพบว่าทุกอย่ากปกติ และหลังจากเติมน้ำมัน เดินรอบรถอีกครั้ง ไฟตาก็ปกติ
การตรวจจุดเกิดเหตุ ไม่พบร่องรอยการเบรก ด้านขวาเป็นเลนสวน ประยูรอ้างว่าขรธเกิดเหตุมีรถวิ่งสวนมาตนจึงไม่หักหลบไปเลนขวา ส่วนเลนซ้ายเป็นไหล่ทางมีเสาไฟส่องทาง ซึ่งพบว่าชำรุดอยู่ก่อนแล้วทั้งหมด ประยูรบอกว่าหักหลบซ้ายก็ชนเสา เขาจึงขับคร่อมไป (ด้วยความเร็วประมาณ 70 กม./ชม.)

หลังจากคุยกับประยูรเสร็จ ก็พูดคุยกับหัวหน้ากะชื่อวิเชียร คนนี้เป็นคนเก่าคนแก่ ท่าทางนักเลง และดูจะมีทัศนะคติเป็นลบกับทีมเซฟตี้ ด้วยเหตุที่เข้ามาตรวจและเตือนสาระพัดอย่างว่าต้องปรับปรุง และที่แย่ที่สุด ผู้จัดการของเขาเพิ่งถูกปลดไปเทื่อสองเดือนก่อนด้วยเรื่องความปลอดภัย
วิเชียรไม่ค่อยอยากจะพูดอะไรมาก ถามคำตอบคำ ด้วยความที่ช่ำชองในการถูกสอบสวน เขาหอบเอารายงานการซ่อมบำรุงรถ การเปลี่ยนอะไหล่ และเอกสารเกี่ยวกับการฝึกอบรม การจัดตารางเดินรถ ตารางการพักผ่อน มาให้ดู เราได้ตรวจสอบรถพบว่าไม่มีร่องรอยการเฉี่ยวชนใดๆ มีรอยครูดใต้ท้องรถเท่านั้นที่เห็นชัดเจน ส่วนไฟตา ใช้ได้เพียงข้างซ้ายข้างเดียว ตรงนี้ขัดกับที่ประยูรเล่าให้ฟัง
เมื่อตรวจบันทึกการบำรุงรักษา สิ่งที่ผิดปกติมากๆก็คือรถคันนี้เปลี่ยนไฟตาไแล้วถึง สี่ครั้งในช่วงเวลาเพียงสัปดาห์เดียว
ต่อมาการสัมภาษณ์หัวหน้าแผนกซ่อมบำรุง เขาเองมีบุคคลิคคล้ายๆวิเชียร เขาโวยวายว่าสั่ง๙ื้อไฟตายี่ห้อหนึ่งแต่จัดซื้อที่นี่จะไปซื้ออีกยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นของเทียมอย่างแท้

ตรวจสอบเวลาที่ประยูรนำรถเข้าจากป้อมยามของคลัง พบว่าประมาณเที่ยงคืนสิบห้านาที ส่วนเวลาขณะเกิดเหตุประมาณเที่ยงคืนหกนาที ประยูรกลับออกไปราวๆเกือบเที่ยงคืนครึ่ง และเวลาประมาณเกือบตีสองมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาที่คลังแจ้งว่ารถบรรทุกเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ

ถึงตรงนี้ รู้หรือยังว่า เขาคนนั้นตายอยู่ก่อนหรือถูกเหยียบตาย รู้ได้อย่างไร
เรื่องราวยังไม่จบ ถ้าไม่สอบสวนดีๆ ก็คงจะสรุปเอาแค่ว่า ขับรถด้วยความประมาท ส่งไปอบรมให้ไม่ประมาท จบ

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

รักจางที่บางปะกง- คำบอกเล่าของประยูร

 
เหตุเกิดขึ้นที่ถนนบางปะกง-ฉะเชิงเทรา ไม่ไกลจากป้อมยามของบริษัทเกษตรรุ่งเรือง และเป็นระยะทางอีกเพียง 500 กิโลเมตร ก็จะถึงคลังก็าซแอลพีจี และศุนย์ขนส่งก๊าซ เวลาที่เกิดเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด
ผมได้รับโทรศัพท์รายงานอุบัติเหตุในตอนรุ่งเช้าของวันที่ 14 สิงหาคม 2003 จึงได้ประสานงานเพื่อทำการสอบสวนอุบัติเหตุครั้งนี้
แน่นอน ผมไปในฐานะ Lead Investigator
การสอบสวน เริ่มต้นจากรายงานของหัวหน้างานที่ส่งมา ได้ความว่า รถบรรทุกแอลพีจี กำลังมุ่งหน้ากลับจากการส่งก๊าซให้ลูกค้าแถวๆฉะเชิงเทรา เมื่อใกล้จะถึงคลัง รถคันดังกล่าวได้เกิดการเฉี่ยวชนกับรถมอเตอร์ไซค์และมีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย ส่วนคนขับรถ นั่งอยู่ข้างหน้าผมแล้ว เขาชื่อประยูร
 
การสอบสวนอุบัติเหตุ เริ่มต้นจากการรวมรวมข้อเท็จและข้อจริงทั้งหมด จากพยาน ซึ่งสำหรับประยูร เขาเป็น Principal witness
หลายๆครั้ง ผมเห็นการสอบสวนอุบัติเหตุ จะมีผู้จัดการโรงงาน หัวหน้างาน เซฟตี้ นั่งเรียงหน้ากัน สอบพนักงานที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ ทำราวกับเขาเป็นฆาตกร ที่กำลังจะต้องถูกพิพากษาโทษ โดยหารู้ไม่ว่า ไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังอุบัติเหตุนั้นๆ ก็คือไอ้หัวหน้าและผู้จัดการที่กำลังตะคอกข่มขู่พยานอย่างเอาเป็นเอาตาย และไม่เคยพาดพิงถึงความล้มเหลวในการจัดการของตนเองเองเลย ตรงกันข้ามพยายามกลบเลื่อนเบี่ยงเบนประเด็นตลอด
ถ้าคุณไม่รู้ว่าใคร คือ Principal witness, ใครคือ Eye witness ใครบ้างที่อยู่ในข่ายที่ต้องสอบถามในฐานะผู้เข้าช่วยเหลือระงับเหตุ ใครคือผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงแต่เป็นผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน คุณพลาดแล้ว
 
ประยูร มีท่าทางกลัวและกังวลอย่างเห็นได้ชัด หัวหน้างานที่นั่งข้างๆผมพยายามพูดแทรกตลอด เขาด่าประยูรว่า ทำไมถึงรีบกลับไปโดยไม่แจ้งและรายงานอุบัติเหตุ และบ่นเรื่องราวต่างๆอีกมากมายจนผมต้องห้ามและขอให้เขาออกไปก่อน
 
ประยูรเล่าว่า "ผมขับรถเปล่ามาจากโรงงานลูกค้าแถวๆฉะเชิงเทรา มาแวะเติมน้ำมันที่ปั๊มเชลล์แถวๆบางปะกง แล้วขับมาช้าๆ ก่อนจะถึงคลัง ผมเห็นเงาตะคุ่มๆอยู่กลางถนน ไม่รู้ว่าอะไร พอเข้าไปใกล้ถึงได้รู้ว่าเป็นมอเตอร์ไซค์ ผมตัดสินใจขับคร่อมไป ได้ยินเสียงครูดไปกับพื้น ไปสักประมาณห้าหกเมตร ผมจอดลงไปดู เห็นว่าเป็นมอเตอร์ไซค์อยู่ใต้ท้องรถ และมีศพอยู่ด้วย ผมจึงตัดสินใจ ปิดไฟและพยายามขับถอยหน้าถอยหลัง จนหลุด แล้วรีบเอารถกลับเข้าคลัง"
 
จากคำให้การของประยูร คุณรู้หรือยังว่าเหตุเกิดขึ้นที่ไหน เวลาเท่าไหร่ เหตุเกิดขึ้นอย่างไร และที่สำคัญ มีคนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้กี่คน ใครเป็น Witness ประเภทไหน ศพที่อยู่ใต้ท้องรถ ตายก่อนจะถูกประยูรเหยียบและลากไป หรือเสียชีวิตอยู่ก่อนแล้ว
 
การสอบสวนอุบัติเหตุที่ถูกต้อง มีขั้นตอนที่สำคัญ 8 ขั้นตอน คืออะไรบ้าง ติดตามตอนต่อไป
อ่ะ ดนตรี ม่ะ  "ใฝ่พะวงหลงฟ่าว สาวจะบางจะเกร็ง เป็นมะเร็งแข็งที่อ สะดือ โบ๋..." โอ้เวรกรรมซ้ำซาก อยากมีนมโต ไปบางโพสาวเจ้า เข้าศัลยกรรม...แด่ แด๊ แด..) สนใจเทคนิค Causal Tree, ICAM, Bow-Tie, Event Tree, Causal Tree, Fault Tree and SCAT  สำหรับการวิเคราะห์เจาะลึก สาเหตุอุบัติเหตุ คลิก
 
 
 

 

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อธิบายสูตรฟิสิกส์ให้กรรมกรฟัง

ผู้บริหารบางคน อาจจะคิดว่า พวกเซฟตี้ นี่มันเงินเดือนแพง ก็แหงละ งานที่พวกเซฟตี้ทำ มันโคตรยาก ขอบอก

  • ทำให้คนไม่ขึ้นไปทำงานบนที่สูง โดยไม่จำเป็น ถือเป็นเรื่องยากในลำดับที่หนึ่ง

  • ทำให้เขาเชื่อว่า การขึ้นไปทำงานบนที่สูงนั้นมีความเสี่ยงต่อการตกจากที่สูง เป็นความท้าทายในลำดับที่สอง

  • ทำให้เขาเชื่อว่าการตกจากที่สูงแล้วจะนำมาซึ่งการบาดเจ็บที่รุนแรง อาจพิการ แขนขาหัก หรือถึงตาย ถือเป็นความยากในลำดับที่สาม

  • ทำให้เขาใส่อุปกรณ์ป้องกันตกแล้วกระแทกพื้น ถือเป็นความยากอันดับที่สี่

  • ทำให้เขาใส่อุปกรณ์แล้วคล้องเกี่ยวกับจุดรับน้ำหนักตลอดเวลาถือเป็นความยากอันดับที่ห้า

 

บริษัททั้งหลาย ที่มีนโยบายความปลอดภัย เขียนเป็นท่วงทำนองที่ว่า เราจะถือว่าเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงที่สุด อะไรทำนองนี้ ต้องถือว่ากล้าหาญชาญชัยมาก ผู้บริหารที่เขียนและเซ็นลงนามในนโยบายนั้นสมควรได้รับการยกย่อง ช่างกล้ามาก เพราะเขียนแบบนี้ พอเอาเข้าจริง ไอ้คนที่อยู่รองๆลงมา มันไม่เอาไปปฏิบัติหรอก อย่างในรูป ถามว่าที่กำลังทำอยู่นั้นปลอดภัยหรือไม่ คำตอบที่ได้ก็จะมีหลากหลายมาก ถ้าไปถามผู้จัดการที่เป็นคนสั่งให้ไอ้กร๊วกนี่ขึ้นไป เขาก็คงจะตอบว่า โฮ่ย แค่นี้ ไม่ตายหรอก หรือไม่ก็ โฮ่ย ขึ้นไปแป๊บเดียว หรือไม่ก็ เสียเวลาตายห่า มัวแต่ไปหาบันดงบันได ไม่ต้องทำมาหาแดกกันแล้ว ครับ นั่นแหละ เพราะเซฟตี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดของเขา แม้มันจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของซีอีโอของบริษัทก็ตาม เรื่องของมึง

จะว่าไป ที่ผู้จัดการคนนี้ตอบก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่า สถานที่แห่งนี้ ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก จะไปหาบันได หรือแพลทฟอร์มที่มีบันได มีราวกันตก มีล้อเข็นไปมาได้ มันก็ไม่มี ของบประมาณไปก็ถูกตัดเหี้ยน เพราะฉะนั้น ความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูงมันต้องต่อยอดจากนโยบายที่ว่านั่น แล้วลงมือตรวจสอบดูว่า มีงานตรงไหน แบบไหน ที่คนต้องทำงานบนที่สูง แล้วจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งป้องกัน เช่น ทำทางขึ้นทางลง มีราวกันตก มีแท่นยืนทำงาน ที่ปลอดภัย เพราะการมีสิ่งเหล่านี้จะทำให้การต้องทำงานบนที่สูงมีความปลอดภัยมากที่สุด

 





คนส่วนใหญ่ มักจะโต้แย้งว่า ขึ้นไปทำแป็บเดียว ไม่เสี่ยงหรอก ไม่ตกหรอก เรื่องนี้ต้องอธิบายกันยาวครับ



สิ่งแรกที่ต้องทำให้เข้าใจก็คือ ที่ว่าแป็บเดียว ไม่ตกหรอก นั้นไม่จริง ความจริงก็คือ การตกจากที่สูง ใช้เวลาเพียงแค่เสี้ยววินาที ที่เขาจะตกถึงพื้น



ตามหลักฟิสิกส์ มีสูตรคำนวณหาความเร็วในการที่นายคนนี้จะตกถึงพื้น เป็นเท่าไหร่ คือ



V = (V02+2gs)1/2 หรือ V = √ (V02+2gs)


V = ความเร็วตอนที่นายคนนี้ตกกระแทกพื้น

V0 = ความเร็วเริ่มต้นก่อนที่เขาจะตกลงมา ซึ่งมีค่า เท่ากับ 0

g = ความเร่งอันเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก มีค่า = 32.2 ฟุต/วินาที2

s = ระยะทางที่เขาร่วงลงมาถึงพื้น

แทนค่าสูตร เอาเป็นว่า ตู้นี้สูง 9 ฟุต กว้าง 9 ฟุต ยาวหรือลึก 20 ฟุต วางอยู่บนหางพ่วง สูงประมาณ 5 ฟุต เพราะฉะนั้น ระยะที่เขาจะตกถึงพื้นก็เท่ากับ 9+5 =14 ฟุต


V= √0 +2(32.2)(14)

V = 30.01 ฟุต/วินาที


นั่นหมายความว่า แค่กระพริบตา นายคนนี้ก็ตกถึงพื้นแล้ว จะจับจะฉวยอะไรไม่ทันหรอก



แล้วถ้าตกกระแทกพื้น ทำให้ปูนตรงนั้นยุบไป ¼ นิ้ว ลองคำนวณดูซิว่า นายคนนี้กระแทกพื้นด้วยแรงเท่าไหร่ ตามสูตรคำนวณ



F1 = Wa / g = WG



F1 = แรงที่นายคนนี้จะกระแทกกับพื้น



W = น้ำหนักตัวของนายคนนี้ เอาเป็นว่าประมาณ 190 ปอนด์



G = ความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก เท่ากับ 32.2 ฟุต/วินาที2



a = ความหน่วง หน่วยเป็น ฟุต/วินาที2



G = แรงที่เรียกว่า G-Force



ก่อนอื่น เราต้องรู้ค่า ความหน่วงหลังจากกระแทกพื้นเสียก่อน อย่างที่บอก เขาตกกระแทกพื้น ปูนยุบไป ¼ นิ้ว เอาไปแทนค่าในสูตร



a = V2/2d


a = ความหน่วง หน่วยเป็น ฟุต/วินาที2



V = ความเร็วตอนที่นายคนนี้ตกกระแทกพื้น



d = ระยะทางที่เกิดความหน่วง ในที่นี้เราประมาณว่า ¼ นิ้วที่ปูนยุบไป



เพราะฉะนั้น



a = (30.1)2 / 2(1/4*1/12)



a = 21,744.24 ฟุต/วินาที2



เอาแทนค่าในสูตรคำนวณแรงกระแทก จะได้เท่ากับ



F1 = Wa/g = 190 * 21744.24 /32.2 = 128,304.5 ปอนด์



แรงกระแทกมหาศาลขนาดนี้ กระดูกกระเดี้ยวไม่หัก ไม่แตก ก็ไม่รู้จะว่ายังงัย อยากรู้ไหมว่าเขาจะตกถึงพื้นด้วยเวลากี่วินาที ลองคำนวณดูครับ



t = √ 2s/g


t = เวลาที่ใช่ในการร่อนลงกระแทกพื้น



s = ระยะทางที่เขาร่วงลงมาถึงพื้น มีค่า 14 ฟุต



g = ความเร่งอันเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก มีค่า = 32.2 ฟุต/วินาที2



แทนค่าดู

t = √ 2*14 /32.2



t = 0.9 วินาที



พอจะขยับปีกบินทันไหม

หาแรง G = a/g = 21744.24/32.2 = 675 แรงพอจะทำให้คอหักได้ไหม


นี่คือเหตุผลว่า คนที่ใส่ฮาร์นเนสขึ้นที่สูง แล้วไม่คล้องเกี่ยวอะไร ชอบอ้างว่าแป็บเดียวเอง ส่วนใหญ่ไปเฝ้ายมบาลด้วยเวลาเพียงแค่ไม่ถึงวินาที สูตรนี้เอาไปคำนวณดูเล่นๆก็ได้ สำหรับคนที่อยากโดดตึกตาย สมมติตึกสูงสิบชั้น ก็ประมาณ 100 ฟุต ลองแทนค่าดูว่าใช้เวลากี่วินาที คุณจะตกถึงพื้น นานพอจะส่งไลน์มั๊ย

ที่สาธยายมามากมาย ก็เพื่อให้เข้าใจว่า การทำงานบนที่สูงอย่างปลอดภัย มันมีหลักที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดังต่อไปนี้

1. ถ้าไม่จำเป็น หรือหลีกเลี่ยงที่จะต้องทำงานบนที่สูงได้ ก็ให้หลีกเลี่ยง เช่นนำงานมาเตรียมข้างล่าง ประกอบเสร็จแล้วค่อยยกขึ้นไป เป็นต้น

2. ถ้าจำเป็นต้องขึ้นที่สูง ที่นั้นจะต้องมีสภาพที่เรียกว่า Safe Working Platform นั่นคือมีทางขึ้นทางลงที่ปลอดภัย กล่าวคือขึ้นลงได้อย่างปลอดภัย ไม่ใช่ปีนป่ายข้างๆนั่งร้าน แบบนั้นเขาไม่เรียกว่าการขึ้นลงอย่างปลอดภัย มีราวกันตก มีราวจับ เพื่อให้สามารถจับได้เวลาเดินขึ้นเดินลง ที่เรียกว่า Three Points of Contact และต้องปูพื้นเต็ม ไม่มีร่องมีรูที่จะตกลงไปได้ พูดแบบนี้ก็พอจะนึกออกว่า นั่งร้านแบบไหว้เจ้า หรือขอไปที ไม่เข้าข่ายที่ว่านี้เลย เพราะฉะนั้นได้โปรดอย่าทำ

3. ถ้าเมื่อไหร่ที่ต้องออกไปนอก Safe Working Platform และมีลักษณะการทำงานที่เสี่ยงต่อการตก จะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันการตกที่เรียกว่า Fall Arresting Device เช่นฮาร์นเนส และที่สำคัญต้องคล้องเกี่ยวกับจุดยึดรับน้ำหนักที่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์เหล่านี้ต้องได้รับการตรวจสอบ

4. คนที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ต้องได้รับการฝึกอบรมให้เข้าใจวิธีใช้ที่ถูกต้องและปลอดภัย


สรุปง่ายๆ

คุณและลูกน้องของคุณ หรือผู้รับเหมาของคุณจะไม่ต้องทำในสิ่งที่ผมพูดเลยแม้แต่ข้อเดียว ถ้า “คุณบินได้”

ตามสบายเลย พ่อคุณพ่อทูนหัว พ่อยอดขมองอิ่ม เอาเลยคร๊าบ เต็มที่เลยคร๊าบ

ประวัติศาสตร์เซฟตี้

 Abraham Maslow พูดถึงเซฟตี้ไว้เมื่อปี 1943 ว่าลำดับขั้นของความต้องการของคนนั้นมีอยู่เป็นลำดับๆ เริ่มตั้งแต่ความต้องการพื้นฐาน อย่างอาหาร อา...