ความเครียดและกดดันทางใจก่อให้เกิดผลกระทบมากมายเกินกว่าที่คุณและผมจะเข้าใจ มันไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มันเป็นภัยคุกคามในสภาพแวดล้อมการทำงานที่สำคัญมากๆเลยทีเดียว
ตอนเรียนหนังสือที่โรงเรียนก็ถูกพวกลูกคนรวย อย่างพวกลูกๆเถ้าแก่ในตลาดรังควาน ถูกพวกลูกตำรวจ ลูกครูรังแก ก็เก็บกดไปพอประมาณ
พอเรียนจบเข้าทำงาน ก็ไปเจอหัวหน้า เพื่อนร่วมงานที่เขาจบมหาวิทยาลัยเดียวกัน รวมหัวกันกดดันกลั่นแกล้ง
เขาไม่ยอมส่งมอบงานให้ ในขณะที่เราก็เป็นคนใหม่ เข้าไปในตำแหน่งผู้จัดการแผนก งานเซฟตี้ก็มีคนสูงอายุสองคนทำอยู่ก่อนเรา คนหนึ่งเป็นทหารเรือเก่า ใครๆก็กลัวแกเพราะแกดุ พอถึงวันที่นายใหญ่จะเข้าโรงงาน แกจะเตรียมธงเขียวไปยืนรอที่ประตูทางเข้า ซึ่งเป็นประตูโรงงานโอเลฟิน พอรถมาถึงแกจะโบกธงผึงแล้ววิ่งชูธงนำหน้ารถเหยาะจนรถเข้าโรงไฟฟ้าของเรา ทำแบบนี้เพราะนายเขาไม่ชอบลงไปติดต่อที่ป้อม รปภ.ข้างหน้า และแกก็ไม่เคยติดบัตรพนักงาน
วันหนึ่งมีผู้บริหารแก่ๆมาเยี่ยม บรรดาผู้จัดการเข้ากันหมด ในห้องพวกเขาดูครื้นเครงระหว่างพวกเขา แล้วผู้บริหารท่านก็ถามขึ้นมาว่า กรดซัลฟุริคสองพันกว่ากิโลรั่ว ปั๊มเอย ท่อเอย วาวล์เอยจมใต้กรด ไม่มีใครเห็น มันเป็นเพราะอะไร
หนึ่งในนั้นตอบเสียงดังทีเล่นทีจริงว่า เขื่อนมันสูง เราเดินผ่านแล้วมองไม่เห็น นี่ผมว่าจะเสนอให้ทุบเขื่อนให้เหลือสักห้าสิบเซ็นต์ แล้วเขาก็คุยครื้นเครง จนผู้บริหารท่านนั้นหันมาเห็นผมเข้า พยักหน้าถาม เซฟตี้เมเนเจอร์คนใหม่รึ คุณเห็นอย่างไร
ผมขออนุญาตพูดแล้วก้าวฉับๆไปที่เครื่องฉายแ่นใส วาง Loss Causation Model ของ Frank E.Bird แล้วอธิบาย ผมเสนอว่า สิ่งที่เราควรต้องมีและทำมีหลายอย่าง ได้แก่ มาตรการในการตรวจสอบระบบท่อ Joint Flanges Valves เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการผุกร่อนและรั่วไหลขึ้น แถมเสนอมาตรการป้องกันการหกล้น ระหว่างการเติมกรดจากรถบรรทุกสารเคมี แล้วเสริมว่า Secondary Containment ที่มีนั้นดีอยู่แล้วไม่ควรทุบให้เตี้ยลง
แล้วก็มีเสียงสอดขึ้นว่า ทำไมไม่เสนอให้สร้างเขื่อนรอบโรงไฟฟ้าเลยล่ะครับ เวลาอะไรรั่วจะได้ไม่ออกไปข้างนอก แล้วพวกเขาก็ฮาครืน ราวกับผมเป็นโหน่ง เท่งมาเล่นตลกให้ดู
ครั้งนั้นบอกได้เลยว่าเครียดจนเจ็บจี๊ดในอก
คงไม่ใช่ผมคนเดียวที่เจอ พวกเซฟตี้ตัวเล็กตัวน้อยในบริษัทใหญ่บริษัทเล็ก และคนที่ทำงานอื่นๆในที่ต่างๆ ก็ล้วนมีเรื่องที่ทำให้เกิดความเครียดความกดดันกันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าใครจะมีน้ำอดน้ำทนแค่ไหน
ในทางวิชาการ เราต้องทำหลายอย่างเพื่อจัดการอันตรายประเภท Psychological Hazards อย่างระมัดระวัง
ขั้นแรก ทำความเข้าใจปัจจัยที่นำมันมา มีอะไรบ้าง อย่างกรณีผม ความไม่ให้เกียรติ และการแสดงออกในลักษณะเหยียดหยามรังแกด้วยความเป็นคนเก่า มีมากกว่า มันกดดัน
บางแห่ง หัวหน้างานเอาเปรียบลูกน้อง อย่างกรณีหัวหน้างานที่ดูแลจัดตารางการเดินรถ ที่จะจัดทริปให้เฉพาะลูกน้องในคอก เพราะใครได้ทริปมากก็มีรายได้มาก ใครไม่เข้าคอกก็ไม่ค่อยได้ทริป แบบนี้ ประยูร เคนเล่าให้ผมฟังพร้อมๆกับน้ำตาคลอเบ้า ความเอาเปรียบและแบ่งพรรคแบ่งพวก
บางทีหัวหน้าหรือผู้จัดการเอาแต่ใจ ใช้อารมย์ก่นด่าหยาบคาย ไม่อธิบายให้ชัดเจนว่าจะเอาอะไร ลูกน้องถามก็ด่าว่าโง่ พอเขาขอคำอธิบายก็หาว่าเถียง
คนงานหัวร้อน ใช้ความรุนแรงกับเพื่อนร่วมงานก็มีให้เห็นมากมาย
ผู้บริหารที่ไม่ใช่ Leader ก็จะไม่เข้าใจ เพราะพวกเขาเป็นแค่ Manager เรื่องละเอียดแบบนี้เขาไม่เข้าใจหรอก
มันต้องเริ่มที่หัว หางจึงกระดิก
เรื่องแบบนี้เวลาป่วย มันออกอาการทางกาย นอนไม่หลับ เครียด บางคนเลยเถิดเป็นโรคซึมเศร้า ทำอะไรที่เราไม่คาดคิดก็มีมากมาย
บริษัทไหนที่เขาให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยและ Well-Being จริงๆ ไม่ใช่แค่ถุยๆตามที่นายฝรั่งเมืองนอกเขาสั่งมา ก็พอจะได้เป็นบุญเป็นกุศลให้คนที่ด้อยกว่า แต่ถ้าแค่ถุยๆ ก็คงจะได้แค่โปสเตอร์สวยๆส่งมาจากเมืองนอก แปลแล้วส่งให้บรรดานายๆเอาปากกาเมจิมาเซ็นรับทราบนโยบาย จบ แบบเครียดๆ ในความฮามันก็มาพร้อมกับความเครียด