วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2567

ทำงานหนักจนถุงเท้าหลุด

 




"Work his sock off"

If you work your socks off, or work your tail off, you work very hard.

ผมมีเพื่อน มีหัวหน้า เป็นคนอังกฤษอยู่หลายคน ก็เลยได้พูด ได้คุย ได้เถียงกันอยู่บ่อยๆ คนอังกฤษใช้ Idioms มากมาย บางทีเราก็ยากที่จะเข้าใจอารมย์ที่อยู่เบื้องหลังคำพวกนั้น อย่างคำว่า " Smon, (my name), please do not be too difficult to Mohan Jale Jale (นามสมมติ). He is a good man, he works his socks off!!" 

ประโยคนี้ผมงงอยู่พักนึง เพราะข้อมูลที่ได้มา ไอ้นี่มันไม่ได้ขยันอะไรหรอก แต่ทำตัวเป็นเจ้าพ่อประจำโรงงาน ใครไม่เข้าไปอวยมัน มันก็บีบเขาออกหมด เซฟตี้คนเก่าๆ ถูกมันบีบจนอยู่ไม่ได้ และอีกอย่างที่รู้มา ไอ้นี่มันใช้วิธี เอาคนมารองมือรองตีน ยิ่งสาวๆด้วยแล้ว ถ้า Work her pants off จะโตเร็วมาก ชนิดที่ว่า ได้เลื่อน ได้ปรับตำแหน่งกันเร็วมากมาย Work his socks off- ขยันมากจนถุงเท้าขาด ถุงเท้าหลุด มันต้องขยันมากเลย ส่วน Work the pants off มันก็น่าจะความหมายใกล้เคียงกัน ใครไปเรียนที่อีตันมา ก็ช่วยเอามาบอกกันหน่อย เป็นวิทยาทาน

เรื่องมันก็มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง ผมกำลังเดินตรวจโรงงานแห่งหนึ่ง เพราะมันเป็นช่วงโควิด เดินทางไปตรวจไปเยี่ยมประเทศอื่นไม่ได้ ว่างๆก็เลยลงไปเดินโรงงานที่ตัวเองต้องไปนั่งทำงาน เดินลัดเลาะไปจนถึงบ่อบำบัดน้ำเสีย ไม่ต้องสงสัย พวกผมก็เรียน Waste Water Treatment มา ไม่กาไม่ไก่หรอก อ่ะ บ่อสุดท้าย Retention Pond น้ำดูใสดี นึกชมอยู่ในใจ แต่สงสัยว่าทำไมประตูน้ำมันเปิด Over Flow ตลอด แบบนี้ถ้าระบบผิดปกติ มันก็ไหลออกเลย ไปไหน ไปแม่น้ำป่าสักไง กิโลเดียวเอง ฉับพลันนั้น เสียงพลั่กๆๆๆๆ ท่อขนาดใหญ่ฝั่งโน้น ปล่อยน้ำขุ่นคลั่กลงมา แล้วไหลออกไปเลย ด้วยความสงสัย ขึ้นไปดูระบบบำบัด ภาพที่ปรากฎคือ ถัง Equalization Tanks 6 ถัง พูนไปด้วยตะกอนดิน มันคือตะกอนดิน ส่วน Sedimentation Tank นิ่งสนิท ระบบบำบัดไม่ได้เดินเครื่อง อ้าวแล้วน้ำนั่นมาจากไหน 

เจ้าหน้าที่ สวล.ให้ข้อมูลว่า มันคือท่อที่ต่อตรงมาจากโรงงาน เอาไว้ระบายน้ำที่ไม่ได้บำบัดออกไป เพราะ เหตุผลร้อยแปด ผมเริ่มขุดเรื่องนี้ ก็พบว่า น้องที่ดูแลเรื่อง สวล.บันทึกเป็นรายงานเสนอนายทุกครั้ง ตั้งแต่ปี 2018 เรื่อยมา มีการปล่อยน้ำท่านี้ปีละไม่น้อยกว่า 12 ครั้ง ก็ประมาณเดือนละครั้ง พอเริ่มสอบสวน ไอ้คนที่ขยันจนกางเกงหลุดก็ประกาศกร้าวว่า ถ้า Smon นั่งเฉยๆไม่เป็น ก็จะไล่ให้ไปนั่งที่ประเทศอื่น พอเรื่องมาเข้าหู ผมก็โกรธจนแทบจะกระโดดขึ้นหลังคา Jump to the roof คราวนี้ก็ซัดกันนัว นั่นแหละคือที่มาของคำว่า Work the pants off  อุ๊ป ซี่  ปล่อยน้ำไม่บำบัดลงแหล่งน้ำสาธารณะ ปรับวันละ 200,000 บาทนะ กรรมการบริษัท เจ็ดคนก็วันละล้านสี่ ถ้าจำไม่ผิด อ้าว แล้วอุตสาหกรรมไม่รู้รึ อ้าว รู้ดิ เห็นเข้ามาดู มีรูปยืนคุยกันอยู่ แต่ไม่รู้คุยเรื่องอัลไร คงปรับกันไปหลายร้อยแหละมั้ง 

สลดแล้ว สลดอีก สลดกันต่อไป

 




ขอหักมุมจากเรื่องฮาฮา มาเป็นเรื่องสลดหดเหี่ยวกันหน่อย ว่าเวลาที่คนงาน บาดเจ็บ ล้มตายกันแต่ละที เหตุการณ์ต่อจากนั้นมันเป็นยังไง ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

ตัวอย่าง พอเกิดเหตุ คนงานลงไปตายในบ่อบำบัดน้ำเสีย คนงานที่มาประสบเหตุก็จะตกอกตกใจ โวยวาย บางคนก็กระโจนลงไปกะว่าจะช่วยเพื่อน บางคนก็วิ่งไปบอก ไปโทรหาหัวหน้า หัวหน้าก็โทรหา ผู้จัดการ ผู้จัดการโทรหาผู้จัดการ ผู้จัดการโทรหาผู้จัดการ จังหวะนี้ อาจจะมีคนที่พอมีสติโทรหารถพยาบาล โทรไม่ติด โทรติดไม่มีคนรับ มีคนรับพูดไม่รู้เรื่อง เอาเป็นว่า รถหวอคันแรกที่มาถึงก็มักจะเป็น กู้ภัย พระเอกตัวจริงของไทย กู้ภัยก็รีบลงไปช่วยกู้ศพขึ้นมา ตำรวจมาพอดีเลย อีกสักพักหมอก็มา ชันสูตรพลิกศพ ที่ถูกแบกขึ้นมาแล้ว ตามกฏหมาย มาตรา 34 พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย 2554 นายจ้าง ซึ่งก็มักจะเป็นผู้บริหารใหญ่ๆโตๆ ยศระดับ ผอ. ผจ. ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนนายจ้าง หรือถ้าเป็นโรงงานเล็กๆ ก็เจ้าของโรงงานนั่นแหละ ต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในทันทีที่ทราบ โดยโทรศัพท์ โทรสาร หรือวิธีอื่นใดที่มีรายละเอียดพอสมควร และให้แจ้งรายละเอียดและสาเหตุ เป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างเสียชีวิต  ถ้าไม่แจ้ง มีสิทธิ์โดนปรับ ห้าหมื่นบาทกันเลยเชียว ส่วนว่าแจ้งไปแล้ว พี่เค้าจะมาเลย หรือไม่มา นั่นมันก็ขึ้นอยู่กับพี่เค้าแหละ ส่วนใหญ่ ถ้าไม่เป็นข่าวครึกโครม พี่เค้าก็จะไม่ค่อยมาหรอก มาทีนึงพี่ๆเค้าก็จะยังไม่ว่าอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็จะแค่บอกว่า จ่อๆ หรือเล็งๆ เอาผิดนายจ้าง ไม่รู้ว่าที่เล็งๆจ่อๆ มีลั่นไกไปมั่งรึยัง 



อย่างกรณีเครนถล่ม แถวพระรามสาม ก็จ่อเอาผิดนายจ้าง เหมือนกัน 

ตัดฉากกลับมาที่ เจ้าพนักงานสอบสวน เขาก็มาสอบๆไป ส่วนใหญ่ ก็ประเด็นไว้กว้างๆก่อน ว่า เป็นอุบัติเหตุ หรือ ความประมาท  พี่ๆพนักงานสอบสวนเค้าไม่ค่อยมีอะไรสลับซับซ้อน เค้าเล็งมาที่ 

มาตรา 291 "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"
องค์ประกอบความผิด (1) ผู้ใด (2) กระทำโดยประการใด (3) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (4) โดยประมาท (องค์ประกอบภายใน (ไม่ต้องมีเจตนา))


การกระทำโดยประมาท คือ การกระทำที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังทั้งๆที่สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 59 วรรคสี่ "กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่"

สอบคนงานที่ทำงานแถวๆนั้น สอบหัวหน้างาน สอบเจ้าของโรงงาน สอบไปสอบมา ก็อาจจะแจ้งข้อหา คนงานด้วยกันที่บังเอิ้น รอดตายมาได้ หรือไม่ก็หัวหน้างาน รึไม่ก็ไฟร์แมน ส่วนบรรดานายจ้างรอดแน่นอน ก็หลักฐานมันไปไม่ถึง ไม่เข้าองค์ประกอบ 

ส่วน เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน ถ้าจะหยิบเอา มาตรา ๘ ให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กําหนดในกฎกระทรวง มาเลียบๆเคียงๆ ถ้าไม่กล้าถาม ก็อ้อมๆแอ้ม ถามก็ได้ อย่างเช่น กรณีคนงานลงไปตายในบ่อบำบัดน้ำเสียนั้น เขาลงไปทำอะไรกัน ลงไปนั่งเล่นเหรอ ถ้านายจ้างจะบอกว่าไม่รู้ คำถามต่อมาก็ลองอ้อมแอ้มถามดูก็ได้ว่า ทางเข้าทางออก ไม่ได้ปิดกันไม่ให้มีคนลงไปโดยพละการดอกรึ ลองหยิบ กฏกระทรวงเรื่องที่อับอากาศมาไล่นิ้วดู มีกี่ข้อที่นายจ้างไม่ได้ทำตาม แล้วแบบนี้ ถือว่านายจ้างละเมิด มาตรา 8 วรรคแรก ใน พรบ.ความปลอดภัยมั้ย ถ้าใช่ ก็มีบทลงโทษในมาตรา 53 หรือถ้าสอบไปสอบมา การณ์ปรากฏว่า มี ผจ. ผอ.นั่นแหละเป็นคนสั่ง บังคับให้ลงไป แถมรั้นอีกว่า ลงไปล้างแป๊บเดียวเอง จป.ท้วงว่ามันคือที่อับอากาศ ก็เถียงตาปูดตาปลิ้นว่าไม่ใช่ รูเบ้อเร่อเบ้อเถร มันจะอับได้ยังไง แบบนี้ ก็มาตรา 69 เลยครับ 

มาตรา ๖๙ ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้น เกิดจากการสั่งการ หรือการกระทําของบุคคลใด หรือเกิดจากการไม่สั่งการ หรือไม่กระทําการอันเป็นหน้าที่ ที่ต้องกระทําของกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

เชื่อผมมั้ย ว่าส่วนใหญ่ ลูกจ้างตายไปแต่ละที ไม่เคยมีนายจ้างโดนลงดาบด้วย พรบ.ความปลอดภัยเลย ฆ่าตัดตอนกันด้วย มาตรา 291 เร็ว ครบ จบง่ายดี ส่วนลูกจ้าง ยังไงก็ไปร้อง กองทุนเงินทดแทนเอาละกัน สลดแล้ว สลดอีก สลดกันต่อไป 





วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2567

ท่านประธานร่วงแล้ว

 

สลิงขาด กระเช้าลอยฟ้าหลุด ทำซีอีโอร่วงพื้นดับอนาถ  😪😪😪


ตั้งใจว่าจะเขียนถึงกรณีสลิงขาดคนงานตาย แถวๆถนนพระรามสอง ก็ไปป๊ะเอาข่าวนี้เข้า ขอแสดงความเสียใจกับการสูญเสียครั้งใหญ่ระดับซีอีโอ 

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น สามารถป้องกันได้ทั้งหมดแหละครับ บังเอิญว่างานนี้เป็นงานรื่นเริงบรรเทิงใจ กระเช้าที่ออกแบบมา ถ้าจะให้มีความปลอดภัยมากแบบว่า เป็น Safe Working Platform คนข้างล่างก็จะมองไม่เห็น-ท่านประธาน เพราะมีราวกันตกสูงๆ ครั้นจะให้ท่านใส่ PFSD=Personal Fall Arresting Device อย่างเซฟตี้ฮาร์เนส ท่านก็กลัวสูทจะยับ ถ่ายรูปแล้วมันจะไม่สวย ลำบากแท้ เรื่องเซฟตี้เนี่ย 

เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทำให้ความทรงจำในครั้งหนึ่ง ที่ผมทำงานกับบริษัทซ่อมเครื่องยนต์ของเครื่องบิน แถวๆคลองเจ็ด ถนนลำลูกกา คราวนั้น บริษัทเปิดตัวธุรกิจใหม่ ซ่อมเทอร์ไบน์เบลด ของโรงไฟฟ้า จึงจัดงานยิ่งใหญ่ ที่ดรีมเวิลด์ ผมได้รับมอบหมายให้เป็นพิธีกร หลังจากถูกแต่งหน้าทาปากจนขาวว่อก คนคุมเวทีก็เอาสคริปท์มาบรีฟให้ฟัง

เอ่อพี่ การแสดงชุดแรกเป็นการแสดงช้างนะพี่ พอการแสดงชุดแรกจบ พี่ก็ขึ้นไปกล่าวเชิญคุณเอ็ด มากล่าวเปิดนะพี่นะ เอาตามสไตล์พี่เลย ไม่ซีเรียส (มึงไม่ซีเรียส แต่กูเครียด) แล้วการแสดงชุดแรกก็เริ่มขึ้น ช้างน้อยสี่ห้าตัวหลังจากมันออกมาเตะบอลกันพักนึง มันก็เดินชักแถวจับหางกันเข้าเวทีไป 

พิธีกร ก็ออกไปหน้าเวที กล่าวนั่นู่นนี่ แล้วก็เรียนเชิญ ดอกเตอร์เอ็ด เวอร์บิค ประธานในพิธีขึ้นเวที (จริงๆแล้วเวทีมันอยู่บนพื้นแหละ) เอ็ด เวอร์บิคก็เดินอาดๆมาหน้าเวที พลันก็มีเสียงดาบฟันกันช้งเช๊งจากหลังม่าน ตามมาด้วยนักดาบในชุดทหารโบราญ ไล่ฟันกันมาอย่างกับฉากนักเรียนตีกัน ตามมาด้วยเสียงช้างขนาดใหญ่แปร๋แปร๋น ไล่กันมาไม่ห่าง มันคือฉากยุทธหัตถี เอ็ด  เวอร์บิก หลบกับพื้น ตัวสั่น ส่วนกู ไม่ต้องพูดถึง หัวใจไปอยู่ที่ตาตุ่ม มันฟันกันนัวเนียอยู่บนหัวกูกับเอ็ดที่นั่งหลบแนบพื้น ขี้แทบแตก นั่นเป็นการผิดคิวที่เกิอบเอาชีวิตไม่รอดเลยทีเดียว เอ็ดถามรัวๆ สุมนต์ มึงจะฆ่ากูรึ  มันฟันกันอยู่แป็บนึงก็วิ่งเข้าฉากไป ผมประคองเอ็ดลุกขึ้น แล้วระล่ำระลัก "ขอบคุณท่านประธานที่ให้เกียรติร่วมแสดงในฉากอันแสนระทึกใจนี้ " รีบส่งไมค์ให้ แล้วรีบลงจากเวที วันต่อมา รีบยื่นใบลาออกเลย ขืนอยู่ กูโดนข้อหาพยายามฆ่าท่านประธานแน่ 


 

ระเบิดเถิดเทิง

 


ก่อนอื่น ขอบคุณสำนักข่าวทุกช่อง มติชน ข่าวสด ไทยรัฐ และอื่นๆ ที่ช่วยกันแจ้งข่าวสะเทือนขวัญ และเจ้าหน้าที่ทุกๆฝ่ายที่เข้าช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก

การระเบิดของโรงงานพลุ ไม่ใช่ครั้งแรกในเมืองไทย การระเบิดของรถบรรทุกเชื้อปะทุ คลังแสงของทหารก็เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เรียกได้ว่า เขย่าขวัญกันประจำปีเลยทีเดียว ระเบิดทีก็ตายกันเป็นเบือที  คำถามก็คือ เรา ได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์พวกนี้บ้าง ไม่ต้องตอบก็ได้ เพราะการเกิดเหตุแบบเดิมซ้ำๆ มันบอกให้รู้ว่า เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมันเลย 

เหตุระเบิดที่โรงงานพลุที่จังหวัดสุพรรณบุรีครั้งนี้ ตายไป 23 ศพ มีผู้รอดชีวิตเพียงรายเดียว คนที่ตายก็มีทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ระเบิดแหลกเหลวเป็นชิ้นเนื้อไปด้วยกัน ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าอะไรทำให้เกิดการระเบิด ในแง่ความปลอดภัย สาเหตุที่เป็น Immediate Causes ของการระเบิดของวัตถุระเบิดได้ ตามหลักของการจัดประเภทสารเคมี โรงงานแบบนี้ใช้วัตถุอันตราย Class 1


คนอื่นๆอ่านรหัสพวกนี้ไม่ออก ผมจะไม่ว่า ไม่บ่นอะไร แต่ท่านๆเหล่านนี้ถ้าอ่านไม่ออก บอกไม่ได้ซื่อบื้อ ผมต้องของอนุญาตหยิกคนละทีสองที

คนแรกเลย คนที่อนุญาตให้นำเข้า ผลิตและครอบครองวัตถุระเบิดพวกนี้ ใครวะ??? เอาหูม่ะ 

กระทรวงกะลาหอม กระทรวงนี้นอกจากจะถูกถามอยู่เรื่อยว่า ตะหานมีไว้ทำไม  เอาไปออกข้อสอบถามเด็กปอหนึ่ง เด็กๆมันก็ตอบได้แหละว่า ตะหานมีไว้ปาตีวัด กับเอารถถัง เรือ เครื่องบินมาโชว์ในวันเด็ก กระทรวงนี้ยังควบคุมเรื่อง การมีไว้และครอบครองพวกวัตถุที่เป็นยุทธภัณฑ์อีกด้วย อย่างพวกวัตถุระเบิด เชื้อประทุ และสารเคมีอีกหลายตัว เช่น โปแตสเซียมคลอเรท ไนเตรท ซึ่งส่วนใหญ่สามารถเอาไปทำวัตถุระเบิดได้ เพราะมันเป็นสารในคลาสที่ 5 พวกออกซิไดซิ่งเอเจ้น เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นพวกพี่เค้า ขับรถตระเวนไปตามเหมืองแร่ ที่ต้องใช้วัตถุระเบิดในการระเบิดเหมือง บางทีพี่เค้าก็มาป๊บเดียว คุยกับวิศวกรที่ดูแลการระเบิด รึไม่ก็กับนายเหมือง แล้วพี่เค้าก็กลับไป หุๆๆๆ พี่ๆเค้าขยัน 

เหตุการณ์สะเทือน จนเป็นหลุมลึกสี่เมตร ทำคนแถวทุ่งมะพร้าว ที่จังหวัดพังงาตายไปเกือบ สองร้อยคน นั่นก็เป็นเหตุการรถบรรทุกเชื้อประทุ หรือแก็บไฟฟ้า ระเบิด ลองย้อนดูเหตุการณ์

เหตุการณ์โรงอบลำใยแห้งระเบิดที่อำเภอสันป่าตอง คร่าชีวิตคนไป 39 คน ดูนี่เลย เหตุการณ์นั้นทำเอาลุงจิ๋วหวานเจี๊ยบซึ่งดำรงตำแหน่ง รอมอตอ กะลาหอมแกออกมาระล่ำระลักให้สัมภาษณ์ว่ากระทรวงแกไม่เกี่ยว กระทรวงเกษตรตะหาก ส่วนกระทรวงที่ออกตัวล้อฟรีก็กระทรวงอุด บอกว่าสถานที่ระเบิดไม่ได้รับอนุญาต ส่วนกระทรวงที่ได้หน้าได้ตาได้ใจไปเต็มๆก็กระทรวงแรงเงิน ออกมาบอกว่าจะจ่ายศพละเท่านั้นเท่านี้ แล้วก็จบเรื่องกันไป

ต่อมาก็คลังแสงที่ปากช่อง โคราชระเบิด กรณีนี้ ชาวบ้านร้านตลาดเสียชีวิตไปนับสิบ ดูคลิปแก้เหงา  ขนาดของพี่เค้าเองยังระเบิดเลย 

ต่อมาเมื่อปีก่อน โกดังแถวๆนราธิวาสระเบิด ข่าวว่าเป็นโกดังที่เก็บพลุ ดอกไม้ไฟ งานนี้ได้ข่าวมาว่าพอถามเรื่องการอนุญาตก็ติดอ่างกันไปมากมายเลยเทียว

ที่ต้องพูดถึงการอนุญาต ก็เพราะว่ามันคือต้นทางการควบคุม หากต้นทางมันหย่อนเป็นหนังกะติ๊ก ปลายทางมันก็ยานเป็นหนังกะป่อก 

กระทรวงต่อมาก็กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้เป็นคนให้อนุญาตตั้งโรงงาน ส่วนไอ้ที่จะบิดจะเบี้ยว เล่นคำว่าสถานประกอบกิจการแบบนี้ต้องขออนุญาตรึไม่ต้องขอ ก็ดูกันเอาเอง ว่า สถานที่ตั้ง สภาพแวดล้อม ที่ตั้งโรงงานมันได้ผ่านการตรวจสอบกันมากมั้ย รึถ้าจะแถไถลไถเถือกกันไปว่าแอบตั้ง ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะปีก่อนก็ระเบิด

อีกกระทรวงที่จะไม่กล่าวถึงก็ไม่ได้ กระทรวงมะหาดเทย เขากับกระทรวงอุด แยกหน้าที่กันลำบาก เพราะเขาเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของพื้นที่ ขนาดจะทำส้วมใหญ่ๆสักหลังยังต้องขอพี่เขาเลย ทำโรงงานพลุนะมึง ไม่ขอได้ไง อ่ะนี่ เอกสารที่ต้องเตรียม คล๊กเลย อย่าช้า  ก่อนพี่ๆเค้าจะอนุญาต นู่แหละมึง เกือบสองเดือน แต่ถ้าคุยกะแกดีๆ ที่เย็นๆ เพลงเบาๆ แกเซ็นเร็ว เชื่อกู 

กระทรวงถัดมาเลย ก็กระทรวงแรงงาน หยิบเอากฏกระทรวงเรื่องการจัดให้มีบุคคลากร บรรดา จอปงจอปอ มาถามเล่นๆ ว่าโรงงานพลุเนี่ยมันอยู่ในบัญชีไหนขอรับท่าน แล้วเขาจะต้องมี จอปอมั่งมั้ย ส่วนเรื่องมาตรการอื่นๆ ตามกฏกระทรวงอื่นๆ สภาพการทำงานปลอดภัยมั้ย อาจจะโดนถาดฟาดหัวโครม!!! ถามโง่ๆ ...

นี่ยังไม่รวมรถขนวัตถุระเบิดพวกนี้ ผมเคยเจอมากะตัว มีรถมาส่งของที่เหมืองยิปซัมแถวๆอำเภอหนองบัว นครสววรค์ ผมเห็นข้างรถเป็นพวกใส้กรอก หมูยอยี่ห้อหนึ่ง ก็เลยถามลูกน้องไปว่ารถใส้กรอกมาทำอะไร แถวๆโรงเก็บวัตถุระเบิด เขาก็บอกว่า ป่าวคับพี่ เป็นรถขนระเบิดเจล กับแก็บ ผมก็ถามไปว่าไม่เห็นติดเพลคาร์ดเลย เขาก็บอกว่าติดไม่ได้ครับพี่ เพราะถ้าเป็นรถขนระเบิด ตำรวจเรียกตลอดทาง โอววววแม่เจ้า แบบนี้วันดีคืนดี ไอ้รถใส้กรอกนี่ไปคว่ำ ไม่ซ้ำรอยเหตุการณ์ที่ทุ่งพร้าวหรอกรึ เอาๆๆๆๆ เอาที่สะดวกเลยมึง เรื่องนี้ต้องถามอีกกระทรวงนึง กระทรวงคม -นา-คม นี่ได้ข่าวว่าเจ้ากระทรวงคนก่อนถูก ปอชอปอ ปอปอชอ ปอปองอ และอีกหน่วยหน่วยงานอิสระ (เป็นพักๆ)ลงมือลงตีน โดนคราวนี้ไม่รู้พี่หนูจะโดนยุบพรรคมั้ย เพราะเอาไปเทียบกับคดีพรรคอนาคตวูบ ยุบเขาตาปริบ คราวนี้เลยแถแถกลำบาก ต้องร่างคำบรรยายดีๆ ดูไปเหมือนโรงงานพลุเลยมึง เหอๆๆๆๆ ประเทศกูมี ทุกอย่างที่คนอื่นไม่มี นี่ยังไม่รวมตำรวจทางหลวง ไม่รู้ว่าพี่กำนันกูออกมารึยัง แหมๆ อุตส่าห์ขี่รถนำ แถมเจอเรื่องส่วยสติกเกอร์อีก ระวังเด้อ วันหลังไปโบกรถใส้กรอก เจอใส้กรอกเทียมเข้าจะเละกันหมดนะจ่า 😅

พูดมาถึงตอนนี้ หลายคนคงเริ่มงง ว่าหูยยยยย มีหน่วยงานตั้งหลายหน่วยงานดูแล ยังเกิดเหตุไม่หยุดไม่หย่อน  สงสัยเจ้าที่แรงเนอะ  เจ้าที่แต่ละกระทรวง แรงๆทั้งน้าน 

วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ความลึกลับของกฏหมาย จป. ไข่ดันบวม

กฏหมาย จป. เนี่ยมันมีมานานแล้ว เด็กรุ่นใหม่บางคนยังไม่รู้ว่า จป.มันคืออัลไร จป. แปลได้หลายแบบ สมัยนู้น แปลว่า จิปาถะ น้ำไม่ไหล ไฟไม่ติด ส้วมแตก ส้วมตัน ผึ้ง ต่อแตนมาทำรัง เรียกใช้ จป. เมื่อครั้งนั้น เป็นไปตามประกาศกรมแรงงาน พ.ศ. 2528 เมื่อกาลก่อนโน้น จป.หางานง่าย เพราะเพิ่งมีกฏหมายบังคับให้สถานประกอบกิจการที่มีคนงาน 100 คนขึ้นไปต้องมี จป.หนึ่งคน 

ต่อมา ปี 2540 ก็มีประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ก็เกิด จป.หัวหน้างาน กับ จป.บริหาร ขึ้น แล้วก็มี จป.ระดับพื้นฐาน กับ จป.วิชาชีพ เกิดขึ้น พวก จป.พื้นฐานนี่ต้องผ่านการอบรม 180 ชั่วโมง ตอนนั้น พวก จป.ก็ยังมีไม่มาก ยังหางานง่าย 

ต่อมาปี พศ. 2549 ก็เกิด จป.ขึ้นอีกสองจำพวก คือ จป.เทคนิค และจป.เทคนิคขั้นสูง ส่วน จป.พื้นฐานนั้นไม่มี เหลือแต่ จป.วิชาชีพอย่างเดียว คราวนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆก็ตั้งหน้าตั้งตา เปิดภาควิชา ที่จบ ออกมาแล้วเป็น จป วิชาชีพได้เลยกันมากมาย จป.เริ่มตกงาน

ต่อมา เมื่อลุงสุชาติ ชมเก่งมาเป็นเจ้ากระทรวง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีก เกิดกฏกระทรวงชื่อใหม่ๆอย่าง กฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการท างาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อด าเนินการด้านความปลอดภัย ในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 ไปยกเลิกกฏกระทรวงปี 2549 เข้าให้ เลยทำให้เกิด จป.ชนิดใหม่ๆ ชื่อเดิมๆ และหน้าที่เดิมๆ ต่างกันก็ตรงที่ มีบัญชีแนบท้ายกฏกระทรวง ว่าสถานประกอบการอะไร อยู่ในบัญชีอะไร ความอลหม่านก็เกิดขึ้น อันแรกเลย พวกสถานประกอบกิจการที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อผู้ประสงค์ออกนาม งง ไม่รู้ว่าตัวเองเข้าข่ายมั้ย ถ้าเข้าแล้วต้องมี จป.อะไร เท่าไหร่ ยังไง พวก จป.เทคนิค ที่เรียนได้ใบประกาศไปช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ บางคนยังตกงาน เพราะเอาใบประกาศจากกฏกระทรวงเดิมไปขึ้นทะเบียนไม่ได้ 

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนมากี่รอบ จำนวน จป.วิชาชีพ ก็เริ่มที่คนงาน 100 คนขึ้นไป ครั้นพอถามไปว่า ที่โรงงานหนู ดิชั้น กระพ้ม มีคนงานเกือบครึ่งหมื่น บางคนหมื่นกว่า มี จปว แค่สองคน จะตายอยู่แล้ว ต้องมี จปว เพิ่มอีกมั้ย คำตอบที่เจ้าหน้าที่กรม กระมิดกระเมี้ยนตอบมาก็คือ เอ่อ ครือ ครือ จะให้พูดขาวกับดำแบบนั้นไม่ได้ เอ่อ ครือ มีคนเดียวก็พอ ฮาขี้แตก คนงานเกือบหมื่น จปว คนเดียวก็พอ แล้วก็ถูไถไปว่า โรงงานปลูกในอาณาบริเวณเดียวกัน สถานประกอบการไม่ได้ตั้งอยู่โดดเดี่ยว แบบนี้ คนเดียวก็เพียงพอ 

แค่ จปว จะเดินให้ครบทุกโรงเนี่ย ก็ไข่ดันบวมแล้วคร๊าบเจ้านาย 



วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

โลเวอร์เอกซ์โพลสีฟลิหมิด แวบเดียวเสียวกันทั้งบาง

 


ถังน้ำมันเปล่าระเบิด เพราะมีคนเอาไปตัดด้วยหินเจียรมั่ง เอาเครื่องตัดแก็สมาตัดมั่ง แล้วก็ระเบิดปุ้ง เป็นข่าวเป็นคราวซ้ำแล้วซ้ำอีก นักข่าวก็ไปสัมภาษณ์คนที่อยู่ละแวกใกล้เคียง ต่างก็ตกอกตกใจ บ้างก็กำลังกินหมูกะทะ บางคนก็ตกใจที่มีเศษโลหะชิ้นหนึ่งเป็น 100 กิโลปลิวมาตกหน้าบ้าน ส่วนเจ้าของร้านที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นอะไรหรอก ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าถังที่ระเบิดนั้นน่ะเป็นถังน้ำมันเปล่า ไม่รู้ว่ามันระเบิดได้ยังไง งงจริงๆๆ เกาหัวแกรก ๆ 



รายนี้มีเพิ่มเติมรายละเอียด ป้าข้างๆบอกว่า (ทำเสียงเหน่อๆ) ฉันกำลังนั่งเล่นเฟสบุคอยู่หลังบ้าน ฝนฟ้ามันครืนๆ ก็คิดว่าเป็นเสียงฟ้าผ่า ที่ไหนได้ รถน้ำมันที่จอดซ่อมกันอยู่ข้างๆมันนะเบิด ไม่รู้ว่าระเบิดได้ยังไง 


หลายๆกรณี เอาถังน้ำมันไปตัดด้วยไฟ ระเบิดสนั่นหวั่นไหว คนไปทาง ถังไปทาง ตัวไปทางขาไปทาง


ระเบิดกันแต่ละที บ้านซ่องห้องหอ เละตุ้มเปะ ชาวบ้านร้านช่องเดือดร้อนกันไปหมด ดีแต่ว่ามันแว่บเดียว เสียวกันทั้งหมู่บ้าน 




ดีหน่อยก็ตรงที่ ถ้าไม่โดนจังๆ ก็ยังพอเก็บพอห่อกันง่าย ถ้าโดนเต็มๆก็เหนื่อยหน่อย กว่าจะเก็บมาครบ ไปค้างอยู่ยอดมะพร้าวก็มี




ในถังน้ำมัน หรือสารไวไฟอื่นๆ จะยังมีไอระเหยอยู่ ซึ่งปริมาณไอระเหยที่มีอยู่นั้น มันผสมกับอากาศและอยู่ในช่วงที่เรียกว่า LEL- Lower Explosive Limit กับ UEL-Upper Explosive Limit เมื่อมันมีแหล่งความร้อน คราวนี้ละมึง ครบองค์ ระเบิดปุ้ง ตายเกลื่อน การที่จะทำการเชื่อม การเจียร์การตัด ถังพวกนี้ต้องกำจัดไอระเหยให่หมดจด ในโรงงานอุตสาหกรรมจะใช้การ Purge ด้วยก๊าซเฉื่อย ไล่จนกระทั่งหมดไอระเหยที่ติดไฟได้ ถ้าไปเจอกับเถ้าแก่ขี้ตืด อาซ้อขี้เหนียว แกก็จะบอกว่า มึงเชื่อมๆไปเหอะ เชื่อกู ไม่ระเบิดหรอก พูดจบแกก็จะไปหลบข้างใน พอระเบิดตู้ม แกค่อยออกมา บอกว่า เออเหอ มันระเบิดได้ยังไงละเนี่ย ถังเปล่าแท้ๆ 
ว่าแต่ว่า ไอ้ร้านซ่อมพวกเนี้ย มันจัดเป็นสถานประกอบกิจการมั้ยครับท่าน แล้วไอ้มะทิงซอ คนพม่าที่ไปกองอยู่ใต้ต้นมะพร้าวนู่น มันจัดว่าเป็นลูกจ้างมั้ยครับจ้าวนาย แหมากระเด็นไปกองซะไกลเลยมึง ถ้าเป็นคนไทยเขาไม่กระเด็นไกลเป็นร้อยๆเมตรหรอก 

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

คนงานตายเรียบ 5 ศพ ไดเร็คเตอร์สองคนติดคุกอ่วม

 





ระหว่างที่คนไทยกำลังจดจ่ออยู่กับ บรรดา ส.ว. ออกมาจีบปากจีบคอว่า ถ้าพรรคแกนนำที่กำลังจะจัดตั้งรัฐบาล ไปแตะต้องมาตร 112 ผมจะไม่โหวตให้นั่งตำแหน่งนายก ประเทศนี้ดักดานกันมาแนนแสนนานแล้ว และจะต้องดักดานกันต่อๆ ดักดานแล้ว ดักดานอยู่ ดักดานต่อไป ที่เมืองเบอร์มิงแฮมประเทศอังกฤษ ก็มีข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี่ยน ผู้อำนวยการของสองบริษัทถูกจำคุกหลังจากกำแพงถล่มทับคนงานดับไป 5 ศพ  อ่านข่าวเต็มได้ที่นี่ 

ถ้าเป็นบ้านกูนะมึง ข่าวแบบนี้ ไม่มีหรอก ไอ้ที่ตายไปห้าศพนั่น ก็น่าจะเกิดจากความประมาท ก็กำแพงมันไม่แข็งแรง เข้าไปให้มันทับได้ยังไง รึไม่ก็ ลางร้าย รปภ.ฝันเห็นนางตานีเดินมายักคิ้วให้ก่อนจะสะดุ้งตื่น 

กำลังจะบอกว่า กฏหมายด้านความปลอดภัย ที่เมืองนอกเขาเอาจริงเอาจัง คดีนี้ฟ้องกันมาหลายปี โดยผู้บริหารสองคนทำผิด พรบ.ความปลอดภัย 1974 

บางคนที่ไปเรียน จป.บริหาร จป.หัวหน้างานมา เริ่มขมวดคิ้ว มีด้วยเรอะที่ผู้บริหารจะโดนโทษจำคุก ก็ต้องบอกว่า มีสิครับ มีอยู่ทั้ง ใน พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 และ พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัย 2554 ในมาตรา 69 

ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้น เกิดจากการสั่งการ หรือการกระทําของบุคคลใด หรือเกิดจากการไม่สั่งการ หรือไม่กระทําการอันเป็นหน้าที่ ที่ต้องกระทําของกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

ในประเทศสารขันแบบไทยๆเนี่ย ไม่มีหรอก อย่างมาก ก็จะจับบรรดา หัวหน้างาน พวกโฟร์แมน รึไม่ก็กรรมกรที่อยู่ตรงนั้นแหละ รอมันออกจากโรงพยาบาล ยัดข้อหากระทำการโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย (แต่โชคดีมึงรอดมาได้ เลยต้องยัดคดีนี้ให้) 

กฏหมายไทย มีโทษจำคุกนายจ้างที่ไม่ทำตามมาตรฐานมากมายที่เขียนไว้ในกฏกระทรวง ตามมาตรา 53 จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ขอประทานโทษ ยังไม่เคยเห็นใครโดน อย่างมากก็จ่อเอาผิดนายจ้าง จ่ออยู่นั้น จ่อจนเสียวเยี่ยวแทบปริบ 

อุบัติเหตุทำนองนี้ ถ้าไม่มีมุบมิบปรับกันใต้ร่มไม้ มันสามารถสาวไปจนถึงตอว่าใครหนอสั่งระงับการซ่อมบำรุง ใครหนอแอบงุบงิบเอางบเซฟตี้ไปปลูกบ้านให้เมียน้อย ใครกันว้อยที่สั่งปลดเซฟตี้คนก่อนข้อหาบังอาจเถียงผู้อำนวยการ 

มันมีกฏกระทรวงปี 2553 กำหนดให้นายจ้างต้องมีระบบบริหารความปลอดภัย นัยว่าลอกเอา OSHMS 2001 มาทั้งดุ้น ในกฏกระทรวงนี้ ถ้าจะเอากันจริงๆ นายจ้างที่เห็นความปลอดภัยเป็นเรื่องไม่สำคัญ ส่อแววจะติดคุกกันระนาว อย่างน้อยๆ ก็ 1 ปี บรรดาผู้บริหารทั้งหลายเองก็มีสิทธิโดนด้วยตามมาตรา 69 

เดชะบุญ เราได้เกิดร่วมแผ่นดินกับคนดีมีบุญ คนพวกนี้ ไม่กี่คนจึงมีอภิสิทธ์มากกว่าคนเป็นล้านๆคน กฏหมายมันก็เลยเป็นได้แค่กฏหมา คนยากคนจนคนกรรมกรก็ต้องผจญเวรผจญกรรมกันต่อไป จบบทความด้วยความช้ำใจ ขำไม่ออก เซฟตี้ฮาไม่ออก 


วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

หนุ่มช่างซ่อม ร้องสื่อ เกิดอุบัติเหตุในโรงงาน ไร้คนเหลียวแล วอนโรงงานเยียวยา

 


เครดิต pptv online หนุ่มช่างซ่อม ร้องสื่อ เกิดอุบัติเหตุในโรงงาน ไร้คนเหลียวแล วอนโรงงานเยียวยา : PPTVHD36

กฏหมายความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น พรบ. และบรรดากฏกระทรวง ประกาศกระทรวงมากมาย ถ้าเอามาบังคับใช้กันให้มันจริงจัง เข้มงวดกวดขันกัน ไม่มัวแต่จะให้บรรดานายจ้างไปจัดงานปีใหม่เลี้ยงหมูหัน ทะเลเผาในช่วงปีใหม่ และคอยแต่จะดูสถิติบนกระดาษอย่างเดียว ผู้ใช้แรงงานก็จะปลอดภัยขึ้น

งานนี้ ลูกจ้างใช้งาน MEWP- Mobile Elevated Working Platform เพื่อปฏิบัติงานบนที่สูง ข้อแรกเลย ตามมาตรา 6 หน้าที่นายจ้าง ต้องจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ยังไม่ต้องลงลึกไปถึงกฏกระทรวง เอามาตรานี้ก่อน ทำรึยัง  ทำงานบนที่สูง มีอันตรายต่อชีวิตหรือไม่ 

มาตรา ๑๔ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานในสภาพการทํางานหรือสภาพแวดล้อมในการ ทํางานที่อาจทําให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย ให้นายจ้างแจ้ง ให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทํางานและแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่ ลูกจ้างจะเข้าทํางาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทํางาน  นายจ้างทำรึยัง 

มาตรา 8 ไปดูซิว่า กฏกระทรวงที่เกี่ยวกับการทำงานบนที่สูง มีกี่ฉบับ 

เอาแค่สองสามมาตรานี่ ถ้านายจ้างไม่ได้ทำ ก็ต้องดำเนินการ อย่ามัวแต่ไปเอาผิดกับลูกจ้างคนอื่นในข้อหากระทำการโดยประมาท นั่นมันเป็นการตัดตอนความรับผิดชอบของนายจ้าง 

พูดเรื่องกฏหมายทีไร ก็ของขึ้นเมื่อนั้น เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยไม่ทำหน้าที่เชิงรุก รึใครจะเถียง 

ทำไมต้องรอให้ลูกจ้างร้องขอความเป็นธรรม ทำให้เขาเถอะ ขอร้อง 


ในการบริหารจัดการงานประเภทนี้ ควรต้องมี

1. Procedure ที่ควบคุมการทำงานบนที่สูง  และเมื่อต้องใช้ MEWP มีข้อกำหนดที่ชัดเจนหรือไม่

2.มี Procedure แล้ว พนักงานได้รับการฝึกอบรมมั้ย 

3.อบรมแล้ว เวลาเขาทำงาน มีการกำกับดูแลมั้ย เอาง่ายๆ ทำไมไม่มีการตัดและล็อกเครน ทำไมไม่จัดให้มีการกั้นพื้นที่ ทำไมไม่จัดให้มี ฺBankman หรือ Flagman ลองดูทีว่ามี Permit To Work สำหรับงานนี้มั้ย 

4 ถ้านายจ้างตอบว่า มีๆๆๆๆๆๆ เคยมีการตรวจประเมินระบบ PTW กันบ้างมั้ย เรื่องนี้ถ้าจะหยิบกฏกระทรวงปี 2553 มาใช้ นายจ้างก็โดนอีก 

แต่ไม่ใช้ ทำไมต้องรอให้ลูกจ้างร้องขอความเป็นธรรม รออะไร


วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ขับให้เร็วขึ้นอีกนิด

 



ความเร็ว...เพิ่มการเกิดอุบัติเหตุบนถนนจริงหรือ?

พื่อนๆชาวเยอรมัน ชาวออสเตรียที่นั่งร่วมวงสนทนาเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองไทย เขาจะระมัดระวังมากเลยที่จะพูดถึงรัฐบาล และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่เมืองไทย
คุยเรื่องขับรถดีกว่า ยูขับรถเองใช่ไหม?? เกือบจะทุกคนบอก เยสๆๆๆ  สนุกไหมขับรถที่เมืองไทย ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันเลย  CRAZY !!! 
ถ้าเช่นนั้น ความเร็วเป็นปัจจัยที่เพิ่มอัตราการเกิดอุบัติเหตุจริงๆหรือ

ผมแกล้งถาม ที่บ้านยูมีออโต้บาห์น ไม่ใช่รึ (Autobahn) คนเยอรมัน คนออสเตรีย เขามีถนนที่ไม่จำกัดความเร็ว ประมาณว่า รถแกมีแรงเท่าไหร่ ก็ใส่ให้สุด ยกเว้นบางช่วง เช่นจุดที่มีการก่อสร้าง จุดที่มีถนนเปียกลื่น และจุดที่ผ่านเมือง แบบนี้อุบัติเหตุไม่เยอะดอกรึ ผมถาม โนว์ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ พวกเขาตอบรัวๆ แล้วมองหน้ากันยิ้มๆ 

ไม่เหมือนออโต้บานที่เมืองไทย  พวกนี้หลายคนได้เมียไทย รู้จักสำบัดสำนวน ออโต้ย่อมาจากคำว่าอัตโนมัติ บานก็มาจากคำว่าบานตะไท แปลรวมๆก็คือขับไปดีๆรถโดนชนบานตะไทตายเกลื่อนถนน ฮา...

ครับ ประเทศไทยติดอันดับสองของโลกที่มีอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด และครองอันดับหนึ่งในเอเชียที่การขับขี่บนนถนนอันตรายที่สุด อย่างที่บทความต่างๆนอกประเทศใช้คำว่า Deadly!!! เพื่อนๆในวงสนทนาเติมให้อีกสองสามอย่าง ว่าคนไทย เฟรนด์ลี่ ขนาดชกฝรั่งเบ้าตาแตก ยังชกไปยิ้มไปเลย น่ารักมว๊าก  คนไทยชอบยิ้ม ดีใจ เสียใจ โกรธ หรืออารมย์เสีย คนไทยยิ้มตลอด คนดี คนบ้า ไอดูไม่ออก ทุกคนเดินยิ้มกันหมดเลย

ที่เยอรมัน อัตราการเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตบนออโต้บห์น แค่ 1.45 เคสต่อการเดินทาง 1000 ล้านกิโลเมตรเอง ทั้งปีก็จะมีอยู่น้อยกว่า 400 เคส ที่บ้านกู แค่สงกรานต์ เจ็ดวัน ก็ตายไปห้าหกร้อย นี่ยังไม่รวมปีใหม่ ตรุษจีน ออโต้บานที่บ้านกูปีๆหนึ่งตายเกือบสามหมื่นคน กูยิ้ม พูดไปยิ้มไป

คำถามกลับกัน การตรวจจับความเร็ว มันช่วยแก้ปัญหาและลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนนท้องถนนออโต้บานที่บ้านกูได้จริงหรือ (ที่พูดกูๆมึงๆเนี่ย เป็นการปรารภในใจ ผมสนิทกับตัวเองที่สุดเลยพูดกูๆมึงๆกันได้)



เรื่องการกำหนดจำกัดความเร็ว เป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆใช้กัน เพื่อเป็นการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ว่ากันว่าเป็นกลไก Enforcement ซึ่งเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยตามหลักอีสามตัว (Education-Engineering-Enforcement) เพื่อนในวงข้าวขยายให้ฟังว่า ที่ออโต้บาห์น เป็นถนนที่เป็นแบบ Access Restriction ถนนถูกออกแบบมาด้วยสมองของวิศวกร ด้วยหลักวิศวกรรม รถราที่นั่น จะว่าไปแล้ว ก็เป็นรถที่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมสูงๆดีๆ ยี่ห้อดังๆทั้งนั้น ไม่เหมือนออโต้บานที่เมืองไทย แบบว่ากูนึกจะเอาแท่งปูน เอาอะไรมากั้น กูนึกจะเอาป้ายไปแปะห้ามเลี้ยว ห้ามตรง กูก็ทำ กูนึกจะขุดตรงไหนกูก็ขุด ที่บ้านไอไม่มี เมืองไทยนี่เฟรนด์ลี่ดี ทำอะไรก็ได้ สบายๆเลย ฮา ส่วนเรื่อง Education ไอไม่พูด 

เพราะวันนี้ไอมาเป็นนักเรียน ยูเป็นครู ไอไม่ขอออกความเห็น ส่วน Enforcement อย่าให้ไอพูด เดี๋ยวยูจะอาย อืมๆๆๆ ไม่ต้องพูดทั้งหมดก็ได้ กูอาย

โดยหลักการแล้ว การขับรถเร็ว ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดของการเกิดอุบัติเหตุ แต่การขับรถเร็วทำให้โดนใบสั่งส่งมาในตู้ไปรษณีย์เกือบจะทุกๆสัปดาห์ บางที่ความเร็วเกินแค่ 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็โดนแล้ว เดี๋ยวนี้ กล้องตรวจจับความเร็วมีทั่วไปหมด แถมด้วยกล้องตรวจจับการเปลี่ยนเลน ขับข้ามเส้นทึบ อีกยี่สิบเซ็นต์เองจะสุดแล้วเปลี่ยนเลนชิดซ้ายเพื่อเตรียมขึ้นทางด่วน ผมว่าคนจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้สึกคล้ายๆกันว่า มันจะอะไรกันนักกันหนา ถนนเชื่อมระหว่างจังหวัด อย่างสายเอเซีย จำกัดความเร็วที่ 90 เห็นรถวิ่งกันครึ่กๆๆๆ ไปกันเป็นร้อยทั้งนั้น พอก็เร่งแซงคันหน้าเกิน 90 โดนเลย (แม่งเอ้ย!!! สบถในใจ)

ความเร็ว (Speed) ส่งผลอย่างไรต่อการเกิดอุบัติเหตุ

1.      ทำให้ระยะหยุด (Stopping distance) ยาวขึ้น โดยเฉพาะเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานที่ต้องเบรกกระทันหัน มันหยุดไม่อยู่ ใครที่ไม่เข้าใจว่าระยะหยุดคืออะไร ผมเขียนไว้ในบทความเรื่อง ตายหมู่เลยรึจ่า คลิกลิงค์นี้

2.      ทำให้ระบบความปลอดภัยที่ถูกออกแบบมาเกินกว่าที่จะรับไหว เช่น แรงปะทะที่เกิดขึ้นต่อห้องโดยสาร เกินกว่าที่โครงสร้างรถที่ออกแบบมาจะรับไว้ได้ ผลที่เกิดก็คือ รถทั้งคันยุบกลายเป็นกองเหล็กยู่ยี่ ให้บรรดากู้ภัยได้มีโอกาสใช้เครื่องตัดถ่างเพื่องัดศพออกมาจากซากรถ

3.      ทำให้การตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์คับขันมันไม่ทันการณ์

4.      ทำให้การบังคับรถยากขึ้น รถบางรุ่น แค่ความเร็วเกินร้อยก็แทบจะเหาะได้แล้ว

5.      ทำให้การให้สัญญาน การหลบหลีกอันตรายทำได้น้อยลง

เมื่อเอาไปรวมกับ สภาพถนนที่ชำรุด  ป้ายจราจรมีบ้าง ไม่มีบ้าง ติดผิดที่ผิดทาง การควบคุมการจราจรประเภทที่แอบๆมุมมืดแล้วกระโดดมาขวางรถกระทันหัน และเพื่อนร่วมทางที่ชอบการขับขี่แบบหวาดเสียว แซงแบบเสียวๆ ขับจี้ตูดให้เสียว ขับปาดซ้ายปาดขวา รวมไปถึงพวกหัวร้อน ขี้โมโห เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ขาใหญ่ขาเล็ก เด็กแว้น พวกขี้เมา ขี้ยา ม้าดีด สาระพัดบนนถนนในบ้านเมืองเรา



การที่ท่านรัฐมนตรีเสนอปรับอัตราจำกัดความเร็ว ผมนี่แหละคนหนึ่งที่ไม่คัดค้าน เพราะรำคาญใบสั่งเหลือทนส่วนสภาพถนนที่กล่าวมาจะเป็นอย่างไร มันไม่เกี่ยวกับร่ากฎหมายที่ท่านกำลังเสนอ ผมก็ไม่ก้าวก่าย เอาที่สบายใจเถิดครับ สำหรับผม การใช้ความเร็ว เป็นความรับผิดชอบของคนขับรถ ไม่งั้นเขาคงไม่มีคันเร่งไว้ให้เหยียบให้ผ่อน  มีแต่คนไม่เต็มเท่านั้นแหละที่เอาแต่เหยียบอย่างเดียว ผ่อนไม่เป็น  

อะแหนะ!!! ไอ้คันหลังนั่น เร่งติดตูดมาเช๊ยะ !!! แบบนี้มันต้องเห็นฤทธิ์อีมาสด้าแก่ซูมๆ ม่ะ บรื๊นๆๆๆๆๆๆๆ


วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

Telematics Technology

 


ระบบ Telematics กับการบริหารการขนส่งสมัยใหม่ (Telematics and new era of logistic management)

 

หากวันนู้น ผมหิ้วกระเป๋าที่บรรจุบรรดาโบรชัวร์ และสาระพัดอุปกรณ์เดินเข้าไปหาอาเสี่ย อาเฮีย อาซ้อ ที่เป็นเจ้าของบริษัทรับจ้างขนส่ง ไม่ว่าจะขนคน ขนของ ทั้งที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ หรือขนาดกลางๆ เป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือแม้แต่ธุระกิจเล็กๆในครอบครัว ตระกูล เล้ง ตระกูลฉ่าง ตระกูลหวัง ตระกูลฮั่ว แล้วบอกว่า เอ่อ ครือๆๆๆ ผมจะมาเสนอขายระบบ เทเลแมติกส์ ก็คงจะเจอคำถามประมาณว่า

·       อารายของลื้อวะ เทเลแมติ๊ก...

·       มังช่ายทามอารายวะ เทเลแมติ๊กเนี่ย

·       มังแพงม๊าย

·       ช้าย ทามอารายวะ

·       อั๊ว ชอบแบบทามมะดา เทคโนโลยีเยอะๆ อั๊วช้ายม่ายเป็ง 

บอกตรงๆนะครับ มันก็ออกจะเข้าใจยากอยู่เหมือนกัน ที่จะอธิบายให้บรรดา เฮียเข้าใจได้ง่ายๆ เอาเป็นว่า ผมจะพยายามถามๆ ว่าเฮียๆ เคยเจอปัญหาแบบนี้มั่งไหมครับ

ปัญหาโลกแตก เลยครับ น้ำมันหาย แบบว่าเติมเต็มถัง แล้วอยู่ๆไปมันไม่พอ ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง รถแอบเลี้ยวเข้าคอก เสมียนกับคนรถมันรู้กัน ตัวเลขบัญชีน้ำมันไม่ตรงความจริง

ปัญหาที่สอง รถออกนอกเส้นทาง บางทีไปเกิดอุบัติเหตุในเส้นทางที่เราไม่ได้อนุญาตให้มันวิ่ง

ปัญหาที่สาม ไปถึงที่หมายล่าช้า ถูกลูกค้าด่าเช็ด

ปัญหาที่สี่ คนขับตีนผี เทกระจาด นี่ถ้าไม่ได้ซื้อประกันไว้ บรรลัยกันไปหลายรอบ

ปัญหาที่ห้า รถเสียกลางทาง หารถเปลี่ยนไม่ทัน ส่งของผิดเวลา ลูกค้ายกเลิกสัญญา ฉิบหายกันไปหมด

ปัญหาที่หก คนขับรถ เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออก อยู่กันไม่ทน

ปัญหาที่เจ็ด ถ้าเป็นรถส่งสินค้าแบบตู้เย็น ไปถึงที่หมาย ตู้เย็นดันเสียไปตั้งแต่ตอนไหนไม่รู้ หมู ไก่ เน่าหมดเลย

ปัญหาที่แปด เวลาให้นอนมันไม่นอน ไม่จอด หลับใน เทกระจาด

ปัญหาที่ เก้า กำหนดเส้นทางไม่ได้ บางทีมีการสร้างสะพาน ทำทาง รถไปไม่ถึงที่หมายตามเวลา

ปัญหาที่สิบ ทุนหายกำไรหด หมายศาลกองเต็มโต๊ะ  

 

ที่พรรณามานั่นน่ะ ถ้าเป็นสมัยก่อน ก็ต้องพึ่ง เจ้าพ่อเห้งเจีย กุมารทอง หรือไม่ก็ฮกลกซิ่ว จิวแปะทง ให้ท่านคอยสอดส่องให้ แต่เดี๋ยวนี้ ท่านมี เจ้าพ่อ เทเลแมติกส์ ตอบได้ทุกโจกท์ที่สาธยายมา เทเลแมติกส์ ย่อมาจากคำว่า คอมมิวนิเคชั่น บวกกับคำว่า อินโฟร์แมติกส์  เกริ่นมาตอนแรกเกือบจะดีแล้วเชียว พอเจอไอ้สองคำนี่เข้า อาเฮียก็หันกลับไปซดน้ำชาทำตาปริบๆต่อ

เอางี้ ระบบเทเลแมติกส์เนี่ย มันประกอบไปด้วย การติดตั้งอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์อย่างเช่น ระบบ จีพีเอส ระบบนำร่อง และเซ็นเซอร์ต่างๆ เข้าไป แล้วมันส่งข้อมูลผ่านระบบการสื่อสารสมันใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบ สามจี สี่จี ห้าจี ทำให้เฮียๆสามารถดูข้อมูลเหล่านั้นผ่านคอมพิวเตอร์ แทบเบล็ท หรือมือถือ  ได้แบบเรียลไทม์  พูดง่ายๆก็คือ อาเฮีย อาซ้อจะลดค่าใช้จ่ายต่างๆและทำการบริหารจัดการระบบการขนส่ง

เริ่มต้นง่ายๆ แบบนี้นะครับ

ระบบเทเลแมติกส์ จะทำให้ข้อมูลต่างๆ ถูกส่งผ่านระบบสื่อสารไร้สายมาถึงผู้ที่บริหารจัดการได้โดยตรง ยกเป็นกรณีตัวอย่างเช่น

มีบริษัทรับเหมาขนส่งสินค้ารายหนึ่ง สมมุติว่าชื่อบริษัทลี้กิมเฮงทรานสปอร์ต เข้าไปรับสินค้าที่โรงงานซึ่งเป็นลูกค้า ที่มีข้อกำหนดเข้มงวดมากมาย อาทิเช่น คนขับรถทุกคันจะต้องมีใบขับขี่ ท.3 ขึ้นไป ต้องไม่เกิดอุบัติเหตุเกินกว่า 2 ครั้งต่อระยะทางรวม 200,000 กิโลเมตร ถ้าเกินนั้นจะถูกยกเลิกสัญญา ต้องส่งสินค้าตรงเวลา และอื่นๆอีกมากมาย อยู่มาวันหนึ่ง คนขับรถหัวใส มีใบขับขี่ตามที่กำหนด เข้าไปรับสินค้าออกมา ขับพ้นประตูโรงงานก็ลงรถ แล้วให้ลูกชายอายุ 18 ปีขึ้นขับแทน ปรากฎว่าไปเกิดอุบัติเหตุ พลิกคว่ำ สินค้าหกล้นรั่วลงคลอง ไฟไหม้เป็นวงกว้าง นี่ถ้าเป็นระบบเทเลแมติกส์ เมื่อเปลี่ยนคนขับรถที่ไม่ได้อนุญาต รถจะไม่สามารถสตาร์ทติดได้ แม้แต่แอบเปลี่ยนคนขับ กล้องที่ตรวจจับใบหน้าก็จะตรวจพบอยู่ดี แบบนี้ เหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดขึ้น อาเฮียเองก็จะได้รับข้อมูลแม้ว่าตอนนั้นเฮียอาจจะกำลังตีกอล์ฟอยู่

รถที่ใช้ความเร็วเกิน เฮียก็รู้

รถอยู่ตรงไหน มันก็โชว์บนแผนที่ อีกกี่กิโลจะถึงลูกค้า เฮียก็รู้

อธิบายมาถึงขั้นนี้ เฮียเริ่มมองหน้าอาซ้อเลิกลั่ก แกแอบกระซิบว่า อั๊วไม่เอาฟังก์ชั่นนี้ได้มั้ยวะ ขืนอาซ้อรู้ว่ามันทำได้ขนาดนี้ เอามาติดรถเฮียเข้ามั่ง ชิกอ๋ายเลยกู

รถใช้น้ำมันไปมากน้อย เพิ่มขึ้น ลดลงเท่าไหร่เฮียรู้หมด

รถออกนอกเส้นทาง ไปจอดนิ่งๆ ดูดน้ำมันในคอก เฮียก็รู้

รถคันไหนครบกำหนดเข้าซ่อมบำรุง เฮียก็รู้

โอย... อีกสาระพัดประโยชน์เลยครับ

อาซ้อ ชะโงกหน้ามาถาม แล้ว มังแพงมั๊ย อาตี๋

โอ่ย ซ้อ ไม่แพงเลยครับ ถูกกว่าค่าน้ำมันที่ถูกแอบดูดไปในคอก ถูกกว่ายางที่แอบไปถอดเปลี่ยนเอายางหล่อดอกมาใส่แทนซะอีก เอาแบบที่ว่า รถติดเครื่อง ถ้าไม่วิ่ง จอดตรงไหนซ้อเห็นหมดเลย

เอ่ยมาถึงตรงนี้ อาซ้อแกมีแววปล๊าบขึ้นมาในสายตา แกกวาดหางตาไปทางอาเฮียซึ่งตอนนี้ก้มหน้าก้มตาลูบคลำนาฬิกาหลายเรือนบนข้อมืออย่างไม่รู้ไม่ชี้

ลื้อจาคลำอารายนักหนา ไอ้นาฬิกาเนี่ย บอกไอ้ตือเพื่อนลื้อให้มันเอามาคืนซะมั่งนะ เพื่อนชิกหายอาราย ยืมแล้วไม่คืน เก๋าเจ๊ง 

อาตี๋ พรุ่งนี้เอามาติดรถเฮียแกก่อนเลยทุกคัน 



ติดคุกเพราะชำนาญการ

 พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มีข้อกำหนดมากมายหลายมาตรา รับกันมาเป็นทอดๆ ไล่ไปตั้งแต่มาตรา 4 ที่เ...