วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2568

จับมือใครดม

 


เหตุการณ์ทางพิเศษที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มที่ถนนพระราม 2 เกิดขึ้นซ้ำๆซาก จนเสียงที่อุทานผ่านสื่อออนไลน์ระงมไปหมดว่า แ.่ง อีกแล้วเรอะ! 

จับมือใครดมไม่ได้ ก็ไม่มีคำตอบให้สังคม บ้างก็ว่า เป็นเหตุสุดวิสัย โทษเจ้าแม่งูจงอาง โทษฟ้า โทษดินไปตามเรื่อง บ้างก็บอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนผูกเหล็ก ว่าไปนู่น รัฐมนตรี โท เอก ก็ไถไปสีข้างแดงเถือก 

จริงอยู่ การเกิดอุบัติเหตุ มันไม่มีใครอยากให้เกิด ไม่คาดคิด และไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าจะให้มันเกิด แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหาทางป้องกัน ขั้นตอนแรก ก็ต้องสอบสวนกันอย่างละเอียด เพื่อจะตอบให้ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เอาใจช่วย สำหรับผู้สูญเสีย และผู้ที่กลายเป็นจำเลยของสังคมในยามนี้ ข่าวสองสามวันมานี้ สับสนอลหม่าน ยากที่จะเห็นว่า ใคร ดมมือใคร รอดมกันต่อไป





วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

จ่อว่าจะจับ VS ปรับโดยไม่ต้องจ่อ

 



ผมพูดถึงแง่มุมกฏหมายความปลอดภัยอยู่บ่อยๆ และมักจะหยิบยกการบังคับใช้กฏหมายความปลอดภัยมาเปรียบเทียบกันระหว่าง OSHA ของอเมริกา และ โอชา ของไทยแลนด์ (แต่น แต้น) ว่าเขามีลีลาในการลงดาบอย่างไร 
ก็ต้องบอกว่า ของ โอชา ไท้แลน เวลาจะลงดาบ ก็จะต้องฟ้อนไปรอบๆ มีดาบเล่มเบ้อเริ่มในมือ อย่างดาบในมาตรา 53 สามารถลงดาบนายจ้างที่ไม่ทำตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวง (ซี่งก็จะครอบจักวาลไว้หลวมๆ คลุมๆเครือๆ แบบว่าจะตีความให้หลุดก็ตีได้ จะตีความให้ จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ทำได้) แถมด้วยดาบมีดสั้นจากมาตรา 13, 16, 32 นี่ก็ไม่ธรรมดา จำคุก 6 เดือน ปรับอีก 200,000 ไหนจะมาตรา 14 ที่ปรับเพิ่มได้อีก 50,000 หากหมั่นใส้ ไล่ไปเจอว่าผิดหลายกฏกระทรวง ก็คูณเข้าไปสิ 

เครดิต 

แต่พอเอาเข้าจริง ไม่รู้ได้เคยลงดาบใครสักทีมั่งยัง สงสัยจัง ผมเข้าไปอ่านในเว็ปของ กอง มีเคสที่เขาเอามาโพส อ่านไปอ่านมาก็ยังกังขาว่า เอ เขาได้ลงโทษนายจ้างที่ละเมิดไปบ้างมั้ย รึว่าได้แต่จ่อ อี๊ แอ่ แอ๋ แอ่ แอ๋ รำป้อๆ ให้นักโทษเสียวแล้วเลี้ยวขึ้นรถตู้กลับออฟฟิศตึกเขียว 

แต่ของอเมริกาโน่น OSHA เขาไม่ได้ดุดันอย่าพวก เอฟบีไอ ที่ไปไหนๆยกบัตรให้ดู ถีบประตูแล้วตะโกนสั่ง ฟรี๊ซ ๆๆๆ พวกเขาไปตรวจ สถานประกอบกิจการ ไปเฉยๆ ไปตามที่มีคนร้องเรียน ไปตอนมีเหตุ ไปถึงก็ตรวจๆๆๆๆ เจออะไรก็จดๆๆๆๆ จดเรียงข้อ เรียงกระทง ถ้าอะไรที่เป็น การกระทำผิดแบบ สะเว็ป SVEP- Severe Violator Enforcement Program อย่างเช่น ไม่มีการตรวจเครน ไม่มี LOTOTO อันนี้เจอบ่อยๆ แบบนี้เขาสั่งปรับ ข้อหาละ 7000-8000 USD เรียกว่าปรับกันเห็นๆ ปรับขี้แตกขี้แตน แถมโพสให้เห็นเลยว่าข้อหาอะไร บริษัทอะไร ไม่มีหรอกไอ้ที่จะมาใช้ตัวย่อ บริษัท ช ผู้รับเหมา ห นาย Z โห่ย ไม่เชื่อลองคลิกไปดู

วัฒนธรรมความปลอดภัยที่สำคัญมากๆอย่างหนึ่งก็คือ ทำตามมาตรฐาน ไม่ลูบหน้าปะจมูก ไม่เงื้อง่าราคาแพง โปร่งใส 

รึใครเห็นเป็นอย่างอื่น คอมเมนท์กันมานะครับ 


วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

อบรมทำงานบนที่สูง

 



การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยที่ระทึกใจผู้เข้ารับการอบรมสุดสุด ที่ครูฝึกได้โชว์พราวด์ แสดงสตั้นท์โชว์เรียกเสียงฮือฮากรีดกร๊าด ก็มีหลายหลักสูตรทีเดียว แต่ละอย่างก็เสียวไปคนละแบบ อย่างอบรมความปลอดภัยการทำงานบนที่สูงนี่ก็ เน้น ให้ผู้เข้าอบรมใส่ Full Body Harness แล้วให้ได้มีโอกาสไปห้อยต่องแต่ง แล้วฝึกใช้ Rope Grab ใช้อุปกรณ์ในการหย่อนตัวลงมาให้ถึงพื้น เป็นไฮไลท์ ทำให้เรื่องสำคัญของการป้องกันอันตรายจากการทำงานบนที่สูงถูกละเลยไป เช่น 

การตกจากที่สูง ถ้าจะมองในแง่ความเสี่ยง จะเห็นว่า สามารถจัดการได้ทั้ง Likelihood และ Consequence  พูดง่ายๆ การป้องกันการตกจากที่สูงทำได้สองวิธี 

1. ปิดโอกาสไม่ให้เกิดการตกเสียตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะคนตก ของร่วง โครงสร้างถล่ม ด้วยการออกแบบ Safe Working Platform และเลือกใช้ให้เหมาะสม แบบนี้นายจ้างไม่ค่อยปลื้ม เพราะมันเปลือง ต้องใช้นั่งร้านมาตรฐานสูง ปูพื้นเต็ม ไม่มีช่องให้ของร่วง มี Toe Board มีราวกันตก มีบันไดทางขึ้นทางลงที่สมบูรณ์ เรียกได้ว่า เหมือนกับเดินจากชั้นหนึ่งขึ้นชั้นสองเลยทีเดียว วิธีนี้ถ้าไม่รวยจริง ไม่คลั่งเซฟตี้จริง ทำไม่ได้ ทางเลือกอื่นๆ ก็เช่น ใช้นั่งร้านแบบเคลื่อนที่ได้ ใช้รถกระเช้า Cherry Picker รถกระเช้าแบบ Scissor Lift ซึ่งก็ต้องหาซื้อหาเช่ามาอีกเหมือนกัน อุบกรณ์ MEWP-Mobile Elevated Platform พวกนี้จัดได้ว่าเป็น Safe Working Platform ถ้าใช้เป็น  

2. ถ้ามีงานที่ต้องออกไปทำนอกแบบที่ 1 เช่นปีนป่ายออกไปนอกราวกั้น ก็จัดได้ว่า Risk to Fall แบบนี้ มีโอกาสตกสูง แต่การตกนั้นจะไม่ตายแน่นอนถ้าไม่กระแทกพื้น กระแทกโครงสร้างอื่นๆ คุณว่าจริงมั้ย ลองคิดดิ ตกจากเครื่องบิน แต่ไม่ถึงพื้น จะตายมั้ย นั่นแหละจึงเป็นบทบาทของ Personal Fall Arresting System -PFAS ซึ่งก็ฝากชีวิตไว้กับ ABCDE- Anchoring Point, Body Harness, Connectors, Decelerating Devices, และสุดท้าย Emergency Rescue

มัวแต่เน้นเอามัน สาระสำคัญก็เมินไปเสียหมด แบบนี้ สู้เอาแมงมุมมากัด ให้ทุกคนกลายเป็นสไปเดอร์แมนดีกว่ามั้น พอตกขึ้นมาก็ ยื่นมืออกไป เอานิ้วกลางกดอุ้มมือ ฉีดใยแมงมุมปี๊ดๆออกไป ไม่ตายถ้าใยไม่หมด อบรมไป ถ้าละเลยข้อแรก ยังไงก็ตกลงมาตายอยู่ดี เหอๆๆๆ

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2568

เรื่องของ สี่ผู้

 


ที่อับอากาศ เป็นมฤตยูที่คร่าชีวิตของคนงานเป็นอันดับต้นๆ พอๆกับการตกจากที่สูงและการถูกไฟดูด ไฟช๊อต ต่างกันนิดก็ตรงที่ว่า ที่อับอากาศมักจะตายคราวละหลายๆคน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

มันเป็นความเข้าใจผิดๆว่า เวลาเข้าที่อับอากาศ ต้องเข้าไปคราวละหลายๆคน เผื่อว่าเวลาเป็นอะไรจะได้ช่วยกันออกมาได้ 

อันตรายในที่อับอากาศมีสองลักษณะ คือ บรรยากาศอันตราย เช่นขาดออกซิเจน มีก๊าซพิษ ก๊าซไวไฟ  กับอีกแบบคือ สภาพอันตราย เช่นไฟรั่ว ไฟดูด หรือเครื่องถูกสตาร์ทขึ้นมาทั้งที่มีคนอยู่ข้างในบดจนเละเป็นเศษเนื้อ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเข้าไปกี่คน เวลาตายก็ตายพร้อมกันหมด

ร่างกายขาดออกซิเจน กล้ามเนื้อจะอ่อนแรง เพราะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆเป็นกล้ามเนื้อลาย ขาดออกซิเจนแค่ไม่เกิน 8 นาที ก็ไม่รอดแล้ว 

ส่วนก๊าซพิษ อย่าง ก๊าซไข่เน่า มันทำให้เราตายได้เร็วมากๆ ด้วยความเข้มข้นเพียงแค่ 15 ppm ในเวลาไม่เกิน 15 นาทีรับรองได้ ต้องห่อกลับบ้าน บางคนยังจินตนาการไม่ออกว่า ไอ้ก๊าซไข่เน่านี่จะไปหาดมได้จากที่ไหน ก็จะแนะนำว่า ลองนอนคลุมโปงแล้วตดรมควันตัวเองดู นั่นแหละมันเลย ก๊าซไข่เน่า ใครที่ชอบค้นคว้าก็นี่เลย ข้อมูลเกี่ยวกับตด  ก๊าซไข่เน่าฆ่าคนโดยไปยับยั้งการหารใจระดับเซลล์ แบบเดียวกับพวกไซยาไนด์เลยเชียว 

หากคุณอยากรู้ว่าในการตดแต่ละทีจะเกิดก๊าซไข่เน่ากี่พีพีเอ็ม ก็ลงทุนเครื่องวัดแก็สหน่อย เอาไปจ่อแล้วตดใส่ ดูซิว่าเข้มข้นเท่าไหร่ 


คนงานจำนวนไม่น้อย มาเข้ารับการอบรมที่อับอากาศแบบสี่ผู้ คือ ผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ปฎิบัติงาน และผู้เฝ้าระวังช่วยเหลือ ผมเพิ่มให้อีกสองผู้เลย คือ ผู้ต้องหา กับผู้เสียชีวิต 

กฏหมายที่อับอากาศ บังคับนายจ้างละเอียดยิบ สรุปใจความง่ายๆ คือที่อับอากาศห้ามเข้า จะเข้าต้องได้รับอนุญาต ใครอนุญาต ก็นายจ้าง ซึ่งไม่ค่อยเห็นว่าจะมีนายจ้างมาเรียนเป็นผู้อนุญาต ส่วนใหญ่ส่งลูกจ้างมาเรียน 

เข้ามาก็นั่งหงอยห่อเหี่ยว ถามว่าคาดหวังอะไร ก็ไม่หือไม่อือ บอกแค่ว่าอยากได้ใบเซอร์ หารู้ไม่ว่าใบเซอร์ที่ได้ มีคุกติดไปด้วย ใครที่เที่ยวไปเซ็นอนุญาตส่งเดช ระวัง คุกเห็นๆ ผู้ต้องหาเลยทีเดียว 

ที่อับอากาศมันไม่ใช่แค่ส่งคนมาเรียนเอาใบเซอร์ มันต้องทำอะไรหลายๆอย่าง (ที่นายจ้างไม่ค่อยอยากทำ) ที่ว่าไม่อยากทำก็เริ่มตั้งแต่

ไม่มีหรอกที่อับที่เอิบอากาศ บ้าไปแล้ว เรามีแต่ถังน้ำ นายจ้างและบรรดานายใหญ่ๆทั้งหลายจะเริ่มที่มุขนี้ก่อน ด้วยการตีตกว่ามันไม่ใช่ที่อับอากาศ 

ก็ในเมื่อมันไม่ใช่ ก็ไม่ต้อง ส่งคนไปเรียน ไม่ต้องตรวจร่างกาย ไม่ต้องระบายอากาศ ไม่ต้องวัด และอื่นๆ อีกมากมาย 

 ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับที่อับอากาศก็ไม่มีปากไม่มีเสียง เครื่องวัดแก็สไม่มี พัดลมระบายอากาศไม่มี ก็ไม่ว่าอะไร กูก็เซ็นๆไปงานจะได้เสร็จๆ 

ส่วนคนงานก็เป็นผู้รับเหมา ส่วนใหญ่ก็แรงงานด่างด้าว พูดยังไม่ชัดเลย จะเถียงเป็นรึ

ผู้บังคับใช้กฏหมาย โอ่ย รายนี้ไม่ต้องพูดถึง เขามักจะจ่อเอาผิดนายจ้าง จ่อแล้วจ่ออีก จ่อจนกูเสียว เขาจะปรากฏตัวในชุดเสื้อกั๊กสีดำ เวลาเกิดเหตุแล้ว แถมมาช้ากว่าพวกอาสาสมัครกู้ภัยซะอีก 

ที่อับอากาศมีอยู่ทั่วไป บ่อพักน้ำเสียใต้ดินตามตลาด นี่ก็ตายมาเยอะ ท่อระบายน้ำ ที่เรามักจะเห็นเขาเอานักโทษมาลอกท่อ ลงไปตัวเปล่า ไม่มีอะไรเลย ส่วนใหญ่เป็นพวกหน่วยงานรัฐซึ่งบรรดา พรบ.และกฏกระทรวงไม่ได้บังคับใช้กับเขา 

ล่าสุดบ่อปลาร้า สถานประกอบการที่มีคนงานไม่ถึง 20 คน ไม่ต้องมี จป.อะไรเลย ก็เลยไม่มีใครบอกคอยเตือน 

นี่เป็นผลจากการจัดประเภทสถานประกอบการโดยใช้จำนวนลูกจ้างเป็นเกณฑ์ พอคนน้อยกว่าเกณฑ์ก็บอกว่าไม่ต้องทำ พอคนเป็นหมื่นๆ กลับบอกว่า จอปอวิชาชีพมีคนเดียวก็พอ โอวววว 

การเอาคนงานเข้าที่อับอากาศ ที่ยังไม่สามารถกำจัดบรรยากาศอันตรายจนหมด ก็สามารถทำได้อีก โดยบอกว่านายจ้างต้องให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสม ป๊าด เหมาะสมของใครล่ะทีนี้ 

เคยมีผู้จัดการคนหนึ่งเดินมาหาผมหน้าเครียด เขาเป็นฝรั่งเศษแต่พูดไทยชัดมาก เขาถาม ษมน ผมไม่ซื้อเครื่องวัดแก็สได้ไหม 

ทำไมล่ะโทนี่ ผมถาม 

มันแพง และก็เราไม่มีที่อับอากาศที่อันตรายอะไรมากมาย มีแต่พวกน้ำและสารเคมีธรรมดาๆ (น่าน) 

แต่เราต้องมีการตรวจอากาศก่อนการอนุญาตนะโทนี่ 

ผมจะเอาเครื่องวัดแสตกไปใช้ แทน 

โอว เครื่องนั่นมันไม่อ่านค่าตรงๆนะ ต้องเอาเข้าแลป ไปคำนวณอีกที แถมมันใหญ่มาก 

แต่มันแพง โทนี่ว่า 

เท่าไหร่ ผมถามไปงั้น เพราะรู้ว่ามันแพง อะไรที่เป็นของเซฟตี้ ภาษี 200 % บางอย่างต้องยุ่งยากในการขออนุญาตเพราะถูกจัดเป็นยุทธภัณฑ์ (ประเทศกูเลย) 

สี่เซ็นเซอร์ก็เกือบสี่หมื่นแล้ว โทนี่อ้อน 

เอาล่ะ โทนี่ ฟังนะ คนที่เซ็นใบอนุญาตทั้งหลายล่ะ ลูกน้องยูทั้งนั้น ไม่สงสารเขารึ เวลาเกิดอะไรขึ้น ลายเซ็นหราเลย เขาติดคุก และที่ว่าแพงน่ะ เมื่อคืนยูพาเอฟดีอาร์ (FDR)ไปเลี้ยง (พี่เฟรดเขาเป็น CEO) ยูเลี้ยงไวน์ไปกี่ขวดล่ะ ขวดละเท่าไหร่ แพงกว่าเครื่องวัดแก็สมั้ย 

โทนี่ไม่ตอบ เดินออกไปแบบเคืองๆ 


ผมก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่อยู่ในลิสต์ที่ต้องถูกปลดโดยเร็ว เพราะเหตุฉะนี้แล ดันไปขัดใจซีอีโอเข้า หุๆๆๆ ผู้ประสบภัย 

เจ้าที่แรง

 


เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายที่หลายแห่ง ที่ผมหาคำอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงเกิดเหตุเพทภัยไม่หยุดหย่อน นอกจากจะต้องหันไปพึ่งความเชื่อเก่าๆว่า เจ้าที่แรง 

เหตุการณ์แรก ที่ยังฝังใจและสยองไม่หาย เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ผมต้องไปทำงานที่อู่ซ่อมเรือแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เรื่องเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ผมพยายามเขียนให้ได้อรรถรสเหมือนกำลังฟัง แถวนี้ผีดุ  ผมชอบรายการนี้มาก ฟังเพลินๆ ดึกๆ ผลอยหลับไป ตื่นมาอีกที ปวดฉี่ ก็เริ่มหลอนไม่กล้าออกไปเพราะกลัวผี 

ระหว่างที่กำลังจะไปประชุมที่อีเนอร์ยี่ (ควรจะอ่านว่า อีเนอจี้ มั้ง) คอมเพล็กซ์ ก็มีโทรศัพท์เข้าเมา ผมรับสาย "อาจ้าน สวัสดีค๊า " เสียงนั่นไม่คุ้น เบอร์ก็ไม่คุ้น แต่เรียกเราว่า อาจ๊าน แสดงว่า คงรู้จักเรา ไม่น่าจะใช่พวกคอลเซ็นเต้อ  ผมรับสาย ครับสัสดีครับ โดยไม่รอช้า เธอถาม อาจ๊าน สนใจจะทำงานกับเรามั้ยคะ ผมถามกลับว่า ที่ไหน แล้วรู้จักผมได้ไง เธอก็ตอบมาว่า อาจ๊านเคยมาสอน จอปอบริหารภาษาอังกฤษ เอ็มดีเป็นลูกศิษย์อาจาน เลยให้โทรมาชวน 

ชื่อเสียงอู่ซ่อมเรือนี่กระฉ่อนพอตัวในวงกสนเซฟตี้ ผมเองเคยเข้าไปสอบสวนอุบัติเหตุ คราวนั้นเกิดการระเบิดของแท่นรองทำงาน จากการรั่วของแก็สอะเซทิลีน ตายไปสามศพ ต่อมาก็มีฝรั่งที่เคยเป็นเซฟตี้เมเนเจอร์ที่นั่นมาทำงานที่บริษัทแก็สที่เดียวกับผม เรียกว่า ที่นั่นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว แต่คำว่าเอ็มดีให้โทรมาชวน ประจวบกับเรากำลังตกงาน เลยตอบตกลงไปทันที ตัดฉากไปที่ 

สัปดาห์แรกของการทำงาน หลังจากที่ผมซื้อพวงมาลัยธูปเทียนไปกราบคารวะเจ้าที่ ก็ได้เวลา เซฟตี้ทอร์ค ของแผนก พวกเรา รวมถึงผมด้วย กับทีมงานเกือบ 20 คน ยืนล้อมวง พยาบาลที่พวกเราให้ความเคารพ เพราะนอกจากผมแล้ว แกน่าจะอาวุโสสุดในวง แกเริ่มก่อน 

หัวหน้าคะ เมื่อคืนมีเคสค่ะ เย็บไปแปดเข็ม หัวหน้าจะให้รายงานเป็นอะไรค๊า แกรายงานเสียงแจ๋ว ยิ้มๆ 

เย็บก็ต้องเป็นเมดิคอลทรีทเมนท์สิครับ ผมตอบ 

ไม่ใช่ค่ะหัวหน้า หนูนี่แหละเป็นคนเย็บ ไม่ได้ส่งโรงพยาบาล เราเย็บในห้องพยาบาลเรานี่แหละ 

ผมคิดว่าเธอน่าจะรู้ว่า การเย็บเป็นการบาดเจ็บขั้น Medical Treatment Case ผมย้ำอีกที ว่า มันคือ Medical Treatment Case ครับ ผมตอบ 

หัวหน้า 

เจ๊แกครางออกมา ไม่ได้ว่าอะไรต่อ 

วันรุ่งขึ้น 

หัวหน้าค๊า เมื่อคืนมีเคสค๊า เย็บไปสิบแปดเข็ม 

ผมถาม  ทำไมรึ เคสเมื่อวานแวะมาขอเย็บเพิ่มอีกสิบเข็มรึไง ผมถามปนขำ 

ไม่ใช่ค่ะ เป็นคนละเคส 

งั้นก็ Medical Treatment Case ครับ 

หัวหน้า เสียงครางพร้อมกัน ผมหันไปถาม ทำไมรึ มีอะไร 

หัวหน้าครับ โบนัสเราเหลือสามพันเองนะครับ ถ้าแตกอีกเราไม่เหลือแล้วนะครับ 

สายของวันนั้นมีการประชุมผู้บริหาร ผมขึ้นไป ในนั้นมีหญิงวัยใกล้เกษียนคนหนึ่ง หลังจากรับผมมาทำงานแล้ว แกดูไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่ แกบอกว่า คุณษมน เซฟตี้พรีเ๙้นท์ได้ไม่เกินสามสไลด์นะ อย่ายาว 

ผมเริ่ม เรามี Medical Treatment Case สองครั้งแล้วครับในรอบสัปดาห์ 

หญิงแก่นั่นตบโต๊ะ คุณษมน อย่ามาทำตัวเป็นครูบาอาจานที่นี่นะ เราไม่เคยมีอุบัติเหตุเลย 

ผมนึกในใจ ตายห่า กูเป็นตัวซวยรึนี่  แต่ในใจผมคิดว่า กูไม่เชื่อหรอก ว่าไม่เคยมีเคส แต่ขี้เกียจเถียง ได้แต่นึกว่า ฮ๊าจริงดิ 

หลังจากนั้น ก็มีคนจากแผนกป้าแกมาป้วนเปี้ยนหน้าห้องผมทุกวัน มาพูดทำนองว่าป้าแกไม่ปลื้ม และเที่ยวย้ำกับลูกน้องผมว่า หากผมยังทำงานแบบนี้ จะไม่ผ่านโปร คือไม่ลงให้แกจะไม่ผ่านโปร ว่างั้น เวลาผมจะไปเดินดูงานข้างนอก สมุนแกจะมาพาไปเดิน ไม่ปล่อยให้เดินเอง พาไปแป็บๆ ก็พากลับมาส่ง สงสัยจะกลัวเราหลงมั้ง ผมไม่ชอบวิธีแบบนี้ วันหนึ่งเลยใส่ชุดหมีแดง เหน็บวิทยุติดเอว ออกหน้างาน ไม่รอใครพาไปเดิน ผมลงไปในอู่ มีคนงานป้วนๆเปี้ยนมาแอบมอง แต่ไม่กล้าเข้ามาคุย จนกระทั่ง

หัวหน้าคั่บ เสียงเหน่อๆทักมา คนงานระดับหัวหน้า ทักมา แกดูลับๆล่อๆ หัวหน้ามาใหม่เหรอคั่บ แกถาม พร้อมจ้องหน้าผมอย่างสนใจ ครับ ผมตอบ 

ผมว่า หัวหน้าไม่น่าจะอยู่ได้เกินสองอาทิตย์ครับ แกว่า อ้าวทำไมล่ะ ผมถาม โดยไม่รอคำตอบ ก็ที่นี่ไม่มีอุบัติเหตุเลยไม่ใช่รึ แถมได้รางวัลสถานประกอบการดีเด่นระดับเพชร 

โอยยย แกคราง เอาเคสไหนล่ะครับหัวน๊า เอามาสักเคสนึง ผมถาม 

มีพนักงานคนนึง นอนหลบแดดหลังพักเที่ยง จู่ๆ รถฟอร์คลิทฟ์มา ซูมมมม แกทำเสียง เอาไปเลยยยย

ตายไหม ผมถาม โอยยยหัวหน้า แล้วแกก็เล่าอีกหลายเรื่อง ลงเอยที่ เซฟตี้คนก่อน มาอยู่ได้ไม่ถึงเดือน ถอดชุดหมีกองไว้ เอาวิทยุวางไว้ แล้วไปเลยยย  

อือ สงสัยเจ้าที่จะแรง ผมนึกในใจ  

หลังจากที่ผมได้ถอดชุดหมี เอาวิทยุวางไว้ตรงกลาง แล้วขับรถออกมาจากที่นั่น โดยได้ส่งอีเมลล์ลาป้าแกและสำเนาไปถึงเอ็มดี ขออภัยที่ไม่ได้มีโอกาสทำงานให้อย่างที่ตั้งใจ และย้ำเตือนไปว่า ถ้าองค์กรยังปล่อยให้เจ้าที่มายุ่มย่าม ทำให้เกิดการซุกซ่อนไม่รายงานแบบนี้ วันหนึ่งจะถึงยอดปิระมิดเข้าจนได้ ผมยังได้ส่งอีเมลล์หาเซฟตี้ไดเรคเตอร์ ที่เป็นคนสิงคโปร์ แล้วก็ร่ำลากันทางดิจิทัล เจ้าที่แรงขนาดนี้ อยู่ด้วยไม่ไหว มันสยอง

ต่อมาผมก็ได้ไปเจอกับสถานที่อีกแห่ง ที่เจ้าที่แรงไม่แพ้กัน 

มันเป็นช่วงโควิด แต่ผมได้ไปเริ่มงานกับบริษัทผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ยี่ห้อหนึ่ง มันเป็นตำแหน่ง Regional Safety Manager ครอบคลุมหลายประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย สิงค์โปร์ และนิวซีแลนด์ 

ผมเริ่มรู้สึกพลังงานบางอย่างระหว่างการถูกพาไปแนะนำตัวให้ทีมผู้บริหารของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่นั่งทำงานของผม มันเป็นโรงงานที่สระบุรี 

ในห้องประชุม มีผู้ชายชาวมาเลย์เชื้อสานอินเดีย ยืนพูด ปนไปกับการด่าตะวาด ตะคอก คนที่อยู่ในห้องนั้น ซึ่งมีทั้ง ผู้จัดการโรงงานและบรรดาหัวแถว โรงงานนี้มีโรงงานย่อยๆอยู่เจ็ดโรง มีโกดังอยู่ในพื้นที่ใหญ่มากในแก่งคอย เขาด่าคนของเขาพักใหญ่แล้วก็เอ่ยแนะนำว่า นี่คือ Regional Safety Manager คนใหม่ เขามาอาศัยนั่งทำงานที่นี่ แต่งานของเขาไม่เกี่ยวกับเรา ฟังดูคล้ายๆจะกีดกันกูตั้งแต่แรกเลยว่างั้น 

โควิด มันทำให้เราไปไหนไม่ได้ ส่วนเราก็อดไม่ได้ที่จะไปเดินดูนั่นดูนี่ ยิ่งเดิน มันก็ยิ่งเห็น ยิ่งเห็นเราก็ยิ่งกังวล ว่าถ้าเป็นแบบนี้ มันจะเกิดอุบัติเหตุเข้าจนได้ ความที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งใต้ปีกเรา อดไม่ได้ที่จะถามและตรวจสอบ เจ้าที่ก็เริ่มไม่พอใจ 

พี่ๆ เขา (หมายถึงนายคนนั้นที่ทุกคนกลัว) เขาฝากมาบอก ว่าถ้าพี่นั่งอยู่เฉยๆไม่ได้ เขาจะเตะพี่ไปนั่งที่อินโดนีเซีย 

เสียงกระซิบนั่นทำให้ผมโมโหจัด ประจันหน้ากับเขาคนนั้นเข้าอย่างจัง ส่วนเขาก็ถือว่าใหญ่สุดที่นั่น เขาก็ยื่นข้อเสนอว่า เอางี้ละกัน ถ้าคุณอยากเดินดูโรงงานเรา ฉันจะให้ผู้จัดการฉันพาเดิน พูดง่ายๆคือ อย่าเที่ยวไปเดินเพล่นพล่านตามอำเภอใจ ผมก็ยินดี เลยทำเป็นตารางออกมาเลยว่าจะไปดูโรงไหนวันไหน โอแม้เจ้า  ตารางของผมมันได้สร้างปรากฏการณ์ทำให้มีการล้างพื้น ทำความสะอาดกันมโหฬาร ก่อนคุณษมนจะเดินโรงงาน 

เหตุการณ์ปลูกผักชีมันดำเนินไปพักหนึ่ง มันก็มาถึงจุดที่ปลูกไม่ไหว อยากเห็นอยากดูอะไร เรื่องของมึงเลย

ผมไปเจอการปล่อยน้ำเสียที่ไม่บำบัดออกไปทางรางระบายน้ำ ไหลพลั่กๆ ลงไปในคลอง จากนั้นก็ไปแม่น้ำป่าสัก เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม แอบเอารายงานมาให้ดู ก็พบว่า ทำมาตั้งแต่ปี 2019 ปีหนึ่งก็จะปล่อยเดือนละ แปดเก้าครั้ง  การเผชิญหน้าเริมปะทุขึ้น ไม่ใช่กับไอ้แขกมาเลย์นั่น แต่เป็นเจ้านายมัน คนอังกฤษ เข้ามาประทะคารมกับผม จนถึงขั้นขู่ว่าจะไล่ออก ผมก็เลยถามไปว่าไล่ออกด้วยสาเหตุอะไร ไม่ใส่ชุดยูนิฟอร์มเนี่ยนะ มันโกรธจนหัวล้านแดงก่ำ เดินกระแทกเท้ากลับไปที่ห้อง (ห้องทำงานผมอยู่ติดๆกับเขา) สักพักเดินกลับมาใหม่ หัวล้านกลับมาเป็นสีชมภูเรื่อๆ น่าจุ๊บสักจ๊วบ กลับมาขอจับมือ ขออภัยที่ใช้อารมย์ แล้วขอร้องผมว่าอย่าไปถือสาไอ้แขกนั่น มันเป็นคนดีหยั่งงั้นหยั่งงี้ มันทำงานจนถุงเท้าหลุด   ผมนึกในใจ ส่วนสาวๆที่ทำงานให้มัน ก็ขยันจน เสื้อผ้าหลุด พอกันเลย เฮ้อ  คนเล่นของนี่น่ากลัวจัง 

ผมเริ่มสอบสวนเรื่องนี้ โควิดยังไม่จบ 

วันนั้น เป็นวันที่ผมครบรอบจะได้รับการรีวิวผลการทำหน้าที่กับหัวหน้าที่อเมริกา เขาออนไลน์เข้ามาแวบหนึ่งถามว่า HR มาหรือยัง ผมก็งงว่า Performance Review ทำไมต้องมี HR

วันนั้น ผมถูกเลิกจ้าง โดยเขาแจ้งว่า บริษัทได้ตัดสินใจยุบหน่วยงาน Regional Safety APAC แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจ้างคุณอีก HR เตรียมเอกสารเลิกจ้างมารอ ผมก็ได้แต่พยักหน้า อือๆ โอเค คืนของก็คือ กุณแจห้องทำงาน กุณแจหอพัก สติกเกอร์ติดหน้ารถ แล้วก็ขับรถกลับบ้าน 

ที่นี่เจ้าที่แรง ได้ยินมาว่า มีหัวหน้าสาวๆหลายคนโดนของดำ แต่ก็ได้เลื่อนขั้นเป็นถึง ผู้จัดการไปหลายคน คนไหนมีท่าทีไม่ยอมก็จะถูกคุณไส เสือกไสกดขี่จนอยู่ไม่ไหวก็จะต้องหายหน้าหายตาไป ผมเป็นคนที่กลัวเรื่องเจ้าที่เจ้าทางอยู่ก่อนแล้ว แต่พอมาได้ยิรเรื่องการเล่นของ เสกของดำเข้าตัว ผมนี่กลัวขี้แตกเลย รีบขับรถกลับบ้าน ใจนึงก็นึกขอบคุณ ที่รอดมาได้ โอแม่เจ้า เจ้าที่แรงจริง 




วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2568

เมื่อ AI ต้องอ่านภาษาไทย


ตอนเด็กๆ เวลาร้องเพลงหน้าเสาธง จะมีอยู่ท่อนหนึ่งที่เราจะต้องตะเบ็งสุดเสียง ตัวตรงแหนว มือทาบข้างลำตัว  

"สะหละอะเหลือดทูกหยาดเป็นชาดผี" การเรียนภาษาไทยสำหรับเด็กไทยที่ลืมตาตื่นก็ได้ยินภาษาไทย พูดไทย เพลงไทย ฝันยังเป็นภาษาไทย ก็ไม่ได้ยากอะไร เพราะอาศัยเลียนเสียงเอา พอโดขึ้นมา ก.เอ๋ย ก ไก่ ก็เริ่มเป๋ เพราะหลักการหลักเกณฑ์ภาษาไทยมันยุบยับ ข้อละเว้นมากมาย และความที่ภาษาไทยเป็นภาษาที่ผันเสียงได้มากมาย สูง กลาง ต่ำ มีพยัญชนะ ถึง 44 ตัว ในจำนวนนั้นมีตัวที่ไม่เคยใช้ในชีวิตประจำวันตั้งหลายตัว มีสระ (สะหระ) อะ อา อิ อี อึ อือ มี ลึ ลือ รึ รือ มีการันต์ 

ที่บอกว่าหลักการเยอะมาก บางครั้งสระก็ล่องหน เหลือไว้แต่เสียง อย่างเช่นคำว่า งง งอโอะโงะ  โงะงอ งง แต่คำว่า นว กลับไม่อ่านว่า โนว แต่อ่านว่า นะวะ อย่างคำว่า โรจนะ อ่านว่า โรด จะ นะ แต่พอเติมการันต์บน นอหนู กลายเป็น โรจน์ อ่านว่า โรดเฉยเลย ไม่ยักอ่านว่า โรดจะ ฟังแล้วเป็นไง งะงะไหม (งงหมัย) เอาเป็นว่า ตามความเห็นส่วนตัว ผมว่าภาษาไทยยาก เข้าใจยาก  

พอถามเซ้าซี้เข้าก็บอกว่า คำนี้เรายืมเขามา ยืม เขมรมั่ง ยืมบาลี ยืมสันสกฤตมั่ง เอาจริงๆที่เป็นคำไทยจริงๆมีกี่คำ  ไม่ใช่ผมคนเดียวที่บ่น เขาบ่นกันทั่วโลก คล๊กเฮีย

สมัยนี้ จะเอาลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลที่เป็นโรงเรียนรัฐบาล (รัดถะบาน) พ่อแม่ต้องส่งลูกไปกวดวิชา หนึ่งในนั้นคือภาษาไทย ปัญหาเกิดเลยทีนี้ แค่สะกดคำ ก็ตายแล้ว สระในภาษาไทยมี 21 รูป แต่ทำเสียงได้ 32 เสียง โอ โอ่ โอ้ โอ๊ โอ๋ กู จะ จ่ะ จ้ บ้า แถมบางคำพอสะกดเสร็จ ลูกถามว่ามันตืออะไร  

ความหวังว่าลูกจะพูด อ่านเขียนไทย มันดูจะริบหรี่ (คำนี้เอไอมันอ่านว่า หะริบหะรี่) เห็นแล้วปวดกบาล (เอไอมันอ่านว่า ปะวะดกบาล) เรียนเสริมไปหลาย ชม. (เอไอมันอ่านว่า ชม) 

พูดไทยคำอิงลิชคำเขาก็ว่าดัดจริต พอถามว่า จะหริดแปลว่าอะร้าย เขาก็ไล่ให้ไปอยู่ประเทศอื่น ข้อหาไม่รักษ์ เอ๊ะทามมายต้องมี สอรึสีการัน(ต์) เขาก็ด่าให้ว่าไอ้โง่ นั่นมันแปลว่า รักษา อ้าว ทามมายไม่เขียนว่า ไม่รักสาไปเล้ยงง 

ของบางอย่างถ้ามันยากมาก เด็กรุ่นใหม่มันก็ไม่อยากเรียน มันไม่อยากใช้ มันเลยเกิดคำใหม่ๆที่เด็กๆมันคิดขึ้นมาสื่อสารกัน บางคำก็ฮิตพักหนึ่งแล้วก็หายไปพร้อมๆกับเด็กรุ่นนั้นกลายเป็นคนแก่หัวหงอก อย่างคำว่า หลี เป็นคำฮิตสมัยผมเรียนปีหนึ่ง ขี้หลี ไอ้ขี้หลี สมัยนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจลึกซึ้งนัก จนมีเพือนสองคน มันเป็นคู่หูกัน คนหนึ่งมันชื่อไอ้หง อีกคนมันชื่อไอ้หลี ไอ้สองคนนี่ทำให้เราเข้าใจคำว่าหลีดีขึ้น 

ภาษาไทยมี แม่หลายแม่ แม่กก แม่กด แม่กง แม่กม แม่เกย แม่เกอว อีแม่สุดท้ายนี่ถ้าเอาไปให้เอไอมันอ่าน มันต้องออกเสียงไม่เป็นเลย สงสารอีสิริ เวลามันพยายามบอกทาง ถนนหลายสายสิริออกเสียงผิดไปหมด อย่าง พหลโยธิน ประดิษฐ์มนูธรรม รามอินทรา บูรพาวิถี 

ใครเคยเจอปัญหาเรื่องภาษาไทยในงานเซฟตี้ ก็เล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ 


วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2568

ติดคุกเพราะชำนาญการ

 พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มีข้อกำหนดมากมายหลายมาตรา รับกันมาเป็นทอดๆ ไล่ไปตั้งแต่มาตรา 4 ที่เขียนนิยามของคำว่า ความปลอดภัยเอาไว้ชัดเจน จนไม่จำเป็นต้องมาเถียงกัน อะไรที่มันเป็นสภาพหรือการกระทำที่จะก่อให้เกิดอันตรายทางร่างกายและหรือจิตใจ มันก็ไม่ปลอดภัยทั้งนั้น ต่อมาก็สำทับด้วยมาตรา 6 หน้าที่นายจ้างและลูกจ้าง ทำให้สถานประกอบกิจการปลอดภัย นายจ้างหัวหมออาจจะตั้งคำถามว่า ทำยังไงให้ปลอดภัย เขาก็เขียนมาตร 8 ดักคอไว้ว่า ให้ทำตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง คราวนี้ก็ตบท้ายด้วยบทลงโทษว่าถ้าไม่ทำตามมาตรา 8 จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรากระจุกกระจิกอย่างมาตรา 13 ที่ให้ต้องมี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย มีบุคคลากร หน่วยงาน ก็ล้อไปกับมาตรา 16 ที่ต้องให้การฝึกอบรมคนพวกนั้น มาตราเหล่านี้ทำให้นายจ้างยิ้มกริ่มเพราะตัวเองก็แค่ส่งคนไปเรียน ได้ใบเซอร์มาก็จบ ส่วนจะทำหรือไม่ทำนั่นมันเรื่องของอั๊วะ สองมาตรานี้รวมกับมาตรา 20 และมาตรา 21  ทำให้สิ่งที่เขียนในมาตรา 14 ที่บอกว่านายจ้างต้องบอกต้องแจ้งให้ลูกจ้างรู้ถึงอันตรายและมาตรการควบคุมก่อนให้ไปทำงานที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย หน้าที่ในมาตรานี้มันถูกถ่ายไปอยู่บนบ่าของบรรดา จอปอ หัวหน้างานและจอปอบริหาร จอปอเทคนิคและ จอปอวิชาชีพจนหมดแล้ว ยังไงเสียนายจ้างก็คงโดนเล่นงานด้วยมาตรา 14 ค่อนข้างยาก นายจ้างก็แค่ทำหน้าเศร้าแล้วบอกว่า เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมาก แต่น่าเสียใจที่หัวหน้างานและคนงานละเลยไม่ทำตามมาตรการ


ส่วนหน่วยงานราชการก็อ้างได้ว่ามาตรา 32 ที่ให้นายจ้างประเมินอันตราย ศึกษาผลกระทบและทำแผนดำเนินการแผนควบคุมนั้นก็เพียงพอแล้วในการกำกับดูแลในฐานะผู้ถือกฏหมาย มาตรานี้ยังกำหนดให้ต้องมีคนมาลงนามรับรองว่าแผนเหล่านั้นมีประสิทธิภาพ คนๆนั้นเขาชื่อว่า นาย "ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย"



ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย ถูกพูดถึงไว้ในมาตรา 32 มาพักใหญ่ๆ จนกระทั่งเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2567 ก็มีกฏกระทรวงออกมา กำหนดคุณสมบัติว่าคนที่จะเป็นผู้ชำนาญการความปลอดภัยได้ต้องเป็นยังไง อ่านไปอ่านมา จอปอเทคนิคก็เป็นผู้ชำนาญการได้ด้วยเรอะ โอพระเจ้าช่วยกล้วยทอด นี่มันอะไรกัน แบบนี้ ไม่ต้องมีมาตรา 32 หรอก เพราะมีก็เหมือนไม่มี นายจ้างยิ้มสิครับงานนี้


อยู่ดีๆก็มีคนมาติดคุกแทนตามมาตรา 69 ไอ้คนที่เซ็นรับรองมั่วๆ ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบแล้ว เห็นชอบ ระวังให้ดี ไปๆมาๆ ไอ้ที่เขาบอกว่าพวกเซฟตี้นี้แหละต้องติดคุก มันจะกลายเป็นจริงขึ้นมาซะแล้ว ติดคุกเพราะชำนาญการ


มาตรา ๖๙ ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้น เกิดจากการสั่งการ หรือการกระทําของบุคคลใด หรือเกิดจากการไม่สั่งการ หรือไม่กระทําการอันเป็นหน้าที่ ที่ต้องกระทําของกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย


ส่วนผู้ชำนาญการอาจจะโดนข้อหาอื่นๆ เช่น ออกเอกสารอันเป็นเท็จ กระจุกกระจิก ตราบใดที่นายจ้างยืนกระต่ายขาเดียวว่าได้ทำตามที่ผู้ชำนาญการรับรองให้แล้วอย่างครบถ้วน ที่หายหกตกหล่นไปก็เป็นความบกพร่องของหัวหน้างาน ผู้จัดการ และเซฟตี้สุดหล่อปากแจ๋วนี่แหละ

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2568

ประวัติศาสตร์เซฟตี้

 Abraham Maslow พูดถึงเซฟตี้ไว้เมื่อปี 1943 ว่าลำดับขั้นของความต้องการของคนนั้นมีอยู่เป็นลำดับๆ เริ่มตั้งแต่ความต้องการพื้นฐาน อย่างอาหาร อากาศ ที่อยู่อาศัยพักพิง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การสืบพันธุ์ การพักผ่อนหลับนอน เรียกง่ายๆว่า ท้องอิ่มนอนหลับแค่นี้ก็หรูแล้ว 

ลำดับถัดขึ้นไปอีกนิดก็ เซฟตี้ ก็จะเริ่มถูกระลึกถึง ความปลอดภัยในครอบครัว ความมั่นคงในงาน ความมั่นคงในฐานะทางการเงิน ความมั่นคงทางอารมย์ เรียกว่า ถ้าท้องยังไม่อิ่ม มันก็หนีไม่พ้น ต้องดิ้นรนหากิน จะให้ปลอดภัยนักหนานั้นไม่ง่าย บางคนต้องทำงานเสี่ยงๆ เขาสั่งให้ไปทำก็ต้องไป อย่างที่เห็นอุบัติเหตุมากมาย คนงานถูกสิ่งต่างๆถล่มทับ ถูกสารพิษคร่าชีวิต ถ้าพวกเขาเลือกได้ เขาต้องเลือกชีวิตตัวเองก่อน สำหรับพวกเขา มันเลือกลำบาก 

ลำดับถัดขึ้นไปอีก ก็เปผ้นอารมย์คนรวย เรื่องหิวโหยไม่มี ที่กำลังโหยหาคือความยอมรับทางสังคม ความสัมพันธ์ในครอบครับ เพื่อนฝูง กดไลค์กดแชร์ การได้โชว์ ได้รับเสียงเชิดชู หูหูย ลำดับนี้ เรื่องเซฟตี้ก็รองๆไปแล้ว โดยเฉพาะเซฟตี้ของลูกจ้าง ถ้าจะต้องทำให้เซฟตี้ เขาจะเลือกอย่างอื่นที่ได้หน้าได้ตามากกว่า 

เลยไปจากนี้ก็ออกแนว สนองความอยาก เช่นอยากบรรลุ อยากสุดยอด อยากได้ไปยืนบนยอดเขาเอเวอรเรสท์ อยากกระโดดร่มแล้วดูดไอติมไปด้วย อยากให้โลกรู้ ว่ากูนี่สุดยอดแล้วโว้ย 


โรงงานขนาด 20-50 คน ส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมครอบครัว มีไม่มากที่ผ่าน Basic Needs ยังขายไม่ดี ยอดขายไม่พุ่ง มีดอกเบี้ยต้องจ่ายแบ้งค์ ใช้แรงเป็นหลัก เครื่องจักรที่มีก็ไม่สมบูรณ์ อย่าพูดถึงเรื่องเซฟตี้ให้เจ็บคอ ถ้ากฏหมายไม่บังคับ หรือบังคับแบบพอไปที ยังไงเซฟตี้ก็ไม่สำคัญเท่าท้องอิ่มนอนหลับหรอกคุณ โรงงานขนาดใหญ่ พวกเขาโหยหาหน้าตาทางสังคม เน้นไปในเรื่องความยั่งยืน คาร์บอนเครดิต ไปโน่น ในขณะที่คนงานยังต้องเผชิญกับเครื่องจักรอันตราย เครื่องมือที่ทำขึ้นเอง แอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้้ำ เพราะสิ่งเหล่านี้ พวกเขามองไม่เห็นความจำเป็น พอเริ่มรวย เซฟตี้ก็ยังถูกมองข้ามอยู่ดี เพราะเจ้าของเขาไม่ใช่คนที่จะมานิ้วกุด แขนขาด ตายตกหกหล่น คนที่เจ็บที่ตายเป็นคนงาน ที่ยังไงเสียพวกเขาก็มีปัญญาจ่ายอยู่ดี แต่สิ่งที่พวกเขาโหยหากลับเป็นความต้องการลำดับที่เหนือขึ้นไป พวกเขาต้องการสายสัมพันธ์ การมีที่ยืน ต้องการเป็น สส. สว. เป็นนักการเมือง เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นแรงขับให้บรรลุจุดสุดยอด 


วันที่ 3 ธันวาคม 1984 เกิดการรั่วไหลของแก็ส MIC- Methyl Isocyanate จากโรงงานของบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ คร่าชีวิตคนอินเดียไปประมาณ 15,000 คน ตัวเลขนี้ไม่เคยตรงกัน จนป่านนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน

เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นความสูญเสียอย่างมโหฬาร ระบบความปลอดภัยที่ล้มเหลว การออกแบบที่ไม่ดีพอ การบริหารจัดการที่ล้มเหลว และการขาดความรู้ความเข้าใจของคนงานเอง เหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดเหตุการที่เลวร้าย 

โรงงานยูเนี่ยนคาร์ไบด์ สมัยนั้นก็เหมือนกัยมาบตาพุดสมัยโน้น ใครได้เข้าไปทำงานที่นั่น แค่ได้ใส่ยูนิฟอร์มก็หรูหราหมาเห่าแล้ว มันอยู่กลางเมือง ผลิตยาฆ่าแมลง อย่างเซวิ่น ที่โด่งดังในบ้านเรา กระบวนการผลิตต้องใช้สาร Methyl Isocyanate ซึ่งเมื่อทำปฎิกิริยากับน้ำมันจะเดือดพล่าน เกิดความร้อนและกลายเป็นแก็สพิษที่ลอยปกคลุมพื้นที่ ในคืนนั้นมันรั่วออกมา ระบบหล่อเย็นไม่มี ระบบเอาแก็สพิษขึ้นเผาทางปล่องไม่มี ระบบ Scrubber เล็กเกินไป และที่แย่ไปกว่านั้น ไม่มีใครรู้ว่ามันคือแก็สอะไร มันคือของลับ มีหนังเรื่อง The Prayer For The Rain   ที่นำเหตุการณ์แก็สรั่วที่โบพาลมาบอกเล่าได้อย่างละเอียดละออ พระเอกของเรื่องเป็นเซฟตี้ ที่เถียงกับผู้จัดการโรงงาน แล้วถูกสวนกลับว่า อดตายกับอุบัติเหตุ คุณจะเลือกอะไร คือประมาณว่า มึงพูดมาก เดี๋ยวกูก็ไล่ออกเสียหรอก

หลายปีก่อน ระหว่างที่ผมกำลังทำงานอยู่ที่โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในมาบตาพุด ก็ได้รับโทรศัพท์จาก อาจารย์จงรักษ์ ผลประพฤติ ขณะนั้นท่านเป็นคณะบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรำไพพรรณี ท่านโทรมาชวนว่า เขาจะมีการประชาพิจารณ์กันเรื่องโรงงานจากอินเดีย จะไปสร้างที่แหลมสิงห์ อยากชวนผมไปฟัง ไปครับลุง ผมรับปาก แล้วแกก็มารับ 

วันนั้น โรงงานที่ว่า เขาจะผลิตสาร Epichlorohydrin ซึ่งเป็นสารตั้งต้นทำพวก Epoxy Resin โดยมีกระบวนการผลิตที่ไม่สลับซับซ้อนอะไร ใช้แก็สคลอรีน ใช้กรดไฮโดรคลอริค แต่ที่น่าสนใจ มันเป็นสารก่อมะเร็ง คุณอาจจะทำคอย่นแล้วเถียงแทนว่าแหม ทำสำออย อะไรมันก็ก่อมะเร็งทั้งนั้น 

วันนั้นผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งกำลังอธิบายเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยของโรงงาน สาธยายระบบการจัดการเวลามั่นรั่วไหล คนในห้องประชุมมีสองพวก คือพวกอยากได้โรงงาน เพราะรวยจากการขายที่ขายดินการถมที่ กับอีกพวกที่มีฟาร์มปลา และที่ไร่ที่สวน ที่ท่องเที่ยวเขาไม่อยากได้ มีการเถียงการถามกันไปมา

อาจารย์ท่านนั้นเมื่อบรรยายจบก็เปิดโอกาสให้ถาม ผมก็ถามไปว่า ทำไมถึงมาตั้งที่แหลมสิงห์ ทำไมไม่ตั้งในมาบตาพุตซึ่งถ้าเทียบกันเมืองจันทบุรีไม่น่าจะเหมาะ จันทบุรีพร้อมรับเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดแล้วหรือ อย่างเช่น รถบรรทุกแก็สคลอรีนพลิกคว่ำแก็สรั่ว 

อาจารย์ท่านนั้นย้อนมาว่า คุณจบอะไรมา แก็สคลอรีนมันหนักกว่าอากาศ รั่วออกมาก็แค่ยืนขึ้นเอาผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูกแค่นี้เอง 

ผมก็บอกไปว่าจบอะไรมา แล้วย้อนถามไปว่า อาจารย์ลืมไปแล้วหรือว่าคนแก่ เด็กเล็กๆ พวกนี้เขาจะรอดรึ และที่สำคัญ อาจารย์ลืมเหตุการณ์ที่โบพาลไปแล้วรึ 

คงมีแค่เราสองคนที่รู้ว่ากำลังพูดถึงอะไร ระหว่างนั้น การถกเถียงเริ่มเสียงดัง ผมเหลือบไปเห็นชายคนหนึ่ง เอาวัตถุสีดำมะเมื่อมขึ้นมาวางบนโต๊ะแล้วตวาดว่า กูไม่สนโว้ยนี่มันเรื่องของคนจันทบุรี ใครไม่ใช่อย่าเสือก 

ผมหุบปากเงียบ สะกิดลุงจงรักษ์ว่าลุงๆ ไปเหอะ อย่าไปยุ่งกะเขาเลย ปล่อยให้เขาสูดกันไป ผมไม่อยากตายเพราะแพ้พิษสารตะกั่ว ว่าแล้วเราก็กลับกันแนบ


วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2567

วัฒนธรรมเน้นเปลือก

เห็นกำลังรณรงค์กันมากมายเกี่ยวกับ "วัฒนธรรมความปลอดภัย"



ก็เลยอยากจะแจมกับเขาบ้าง ในฐานะคนในวงการ (ทำไม ไม่เขียนว่า ถานะ หรือทำไมเขียนว่า สถานะ) เห็นมั้ย แค่คำศัพท์ในภาษาพูด ภาษาเขียน คนไทย (หรือว่า คนไท คำไหนถูกใจ คำไหนถูกต้อง) 

ประเทศไทย ใช้คำว่า วัฒนธรรมเยอะมาก แต่มักจะออกไปในแนว

พิธีกรรม พิธีการ ซึ่งก็จะต่อท้ายไปหน่อยว่า ได้รับการสืบทอดกันต่อๆมา ตอนหลังก็เริ่มเสียงแตกว่า ไอ้ที่สืบทอดกันมามันก็ไม่ได้ดีไปเสียทั้งหมด บางอย่างก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไอ้คนทำคนแรกนั้นมันคือผู้ใด ทำไปทำไม กูทำตามก็ยังงงๆว่าทำไปทำไม พอจะนึกออกมั่งมั้ยวัฒนธรรมแนวนี้  ในงานเซฟตี้นี่เยอะเลย เช่น จะซ้อมดับเพลิงที วิ่งหาเช่าวิทยุ หาซื้อหมวกสีทอง เอาให้บรรดานายๆเขาใส่ทำท่าแอ็คชั่น เวลาถ่ายรูปจะได้ดูสวย พิธีปลูกต้นไม้ มีกระบวยผูกโบว์ พิธีเปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัย หูยๆๆๆๆใส่หมวก สายรัดคางเป๊ะ ใส่แว่น ใส่เสื้อสะท้อนแสง หนักๆเลยก็ใส่แมส เดินเปิดงานในห้องแอร์ กูจะบ้า  ไปตรวจงาน อีคนตรวจใส่ครบ คนถูกตรวจไม่ใส่อะไรเลย ดีนะที่ยังมีเสื้อ กางเกง 

เน้นแบบแผน อันนี้ก็ไม่รู้แผนใคร แผนอะไร มีแผนแล้วไงต่อ เคยไปดูมั่งมั้ยว่า เอาไป Implement มั่งมั้ย มีงบให้เค้ามั้ย เอาเข้าจริงก็ แพลนนิ่ง (แพลนที่อยู่นิ่งๆ)

เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ หัวหงอกหัวดำให้มันรู้มั่ง ใครเป็นใคร เป็นเด็กเป็นเล็กอย่าสะเออะ ข้อนี้ ผมเห็นวัฒนธรรมคลานเข่า เข้าไปหา ผจ.โรงงาน เห็นแล้วช็อก ยิ่งบริษัทที่มีอายุยาวๆมาตั้งแต่เลิกทาสใหม่ๆด้วยแล้ว เห็นแล้ว บรื๋อ ความจริงแล้วประเทศที่เขาเจริญมากๆ คนของเขาเท่าเทียมกัน ในเรื่องความคิดความอ่าน ไม่ได้หมายความว่าคนหัวหงอกจะฉลาดกว่าเด็กหัวดำ เก็ทมั้ย เดี๋ยวนี้เด็กๆมันก็หัวขาวกันเยอะแยะไป มันย้อมกันได้  

เลือกปฏิบัติ คนไทยมีกฏหมายมากมาย แต่เอาเข้าจริง มันมีมาตรฐานว่า คุณรู้จักใครใหญ่ๆโตๆ คุณนามสกุลอะไร หลังๆมานี่นามสกุลมันตั้งให้หรูหราอลังการได้ ก็ต้องดูว่าคุณขับรถอะไร หิ้วกระเป๋าอะไร ใส่นาฬิกาอะไร บางโรงงานประกาศกฏ Life Saving Rules แต่พอเอาเข้าจริง พอนายๆทำผิดก็ติดอ่าง อึกๆอักๆ ไม่กล้าเอาออก ที่โดนก็พวกบรรดาซุปๆทั้งน้าน 

เน้น บูรณาการ คำนี้ผมก็ไม่ค่อยจะเข้าใจว่าเขาหมายความถึงอะไร สมัยรัฐบาลลุงๆทั้งหลายนั่น อย่างเยอะ บูรณาการมันน่าจะหมายถึง Integration ซึ่งมันมีเจ้าภาพ -Responsible มีคนนั่งหัวโต๊ะ - Authority ไม่ใช่ขี้เยี่ยวไม่ออกก็ให้นายกเป็นประธาน ตลกว่ะ คนบ้าอะไรเป็นประธานเป็นร้อยเป็นพันคณะ อันนี้ในโรงงานที่ไม่ค่อยจะเน้นการมีส่วนร่วม เขาจะหนักเรื่องนายใหญ่ๆ ที่นั่งอยู่ในโซฟาแถวหน้าๆ คล้ายๆในศาลาสวดศพ ไปดูเหอะ นั่งหัวโด่เด่คนเดียวกลางศาลา โซฟาเบ้อเริ่ม กลัวผีหลอกมั่งมั้ยล่ะนั่น

เน้นสมัครสมานสามัคคี คือห้ามคิดแตกต่าง เพราะความเห็นต่างจากผู้น้อยคือความกระด้างกระเดื่อง ความเห็นแย้งจากคนระดับเดียวกันนำมาซึ่งความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทุกคนจึงต้องคมในฝัก ส่วนจะไปคมใน ฟัก (F_CK) กันข้างหลังอันนี้รับกันได้ คนไทยไม่รู้จักคำว่า Consensus  

เน้นสัญลักษณ์ เน้นเปิดป้าย ตัดริบบิ้น แบคดรอปหรูๆ กดปุ่มทีมีควันพวยพุ่ม มี Pritty พาเดินขึ้นเวที จูกลงเวที อันนี้ (ข้าใจได้ มันทำให้ลุงเขากระชุ่มกระชวย)

เน้นรางวัลดีเด่น รางวัลระดับชาติ ผมเคยเห็นมาเยอะแล้ว และก็จะได้เห็นกันต่อๆไปเรื่อยๆ 

รักษาไว้เป็นขนบธรรมเนียม อย่าเปลี่ยนแปลง (ข้อนี้ไม่มีใครพูดถึง )แต่ผมเห็นมาตลอด อย่างค่าธรรมเนียม น้ำร้อนน้ำชา ใส่ซอง ใต้โต๊ะ ถุงขนม ประมาณนั้น


ที่พูดมานั่น ไม่ได้เห็นแย้ง เรื่องการสร้าววัฒนธรรมความปลอดภัย ผมเห็นด้วยครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน เอาที่สะดวกๆๆๆ  เอ้า ดนตรี ม่ะ 

แตรน ตะละแลน แต่น แตน แตน แต้นๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ 

 





 

 



วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2567

พระรามสยอง ปลาร้าสยิว

 ข่าวสะเทือนใจกลางปีนี้ก็คงหนีไม่พ้นรถบัสนรกที่ย่างสดนักเรียนไปกว่า 20 ชีวิต และเขย่าขวัญกันด้วยข่าว Launcher Gantry ถล่มที่ถนนพระรามสยอง ต่อด้วยข่าวบ่อปลาร้าสยิวที่คร่าชีวิตไป 5 ศพ 😐


มีคนถามขึ้นดังๆว่า ก็ในเมื่อมี จป.วิชาชีพเป็นแสนคน จป.หัวหน้างานอีกหลายแสนคน จป.บริหารอีกมากมาย ทำไมยังเกิดอุบัติเหตุไม่หยุด 

บ้างก็ข้อนขอดว่า มีกฏหมา(ย)มากมายจากแต่ละกระทรวง ทบวง กรม นี่ไม่นับรวมบรรดาประกาศ คำสั่งที่ออกโดยคณะปฏิวัติ ก็แล้วทำไมไม่ดีขึ้นบ้างเลย

มีผู้รู้ กูรู้ กูไม่รู้แต่แกล้งรู้ กูปีนเสาก็เลยรู้ กูโดนกระโถนฟาดก็เลยรู้  และบรรดาดอกเตอร์ ดอกแต๋ว มากมาย ทำไมเราไม่สามารถหาข้อยุติแล้วเอาไปแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

มีอะไรที่คล้ายคลึงกันและเป็นแกนกลางของปัญหาเหล่านั้น 

ถ้าเป็นเมื่อสมัยปี 1930 Herbert William Hienrich ก็จะบอกว่า ความยากจนไง ประเทศที่ยากจน คนยากจน เวลาทำอะไรแต่ละอย่าง มันก็ไม่คิดอะไรหรอก เพราะงานมันต้องรีบ ต้องเร่ง ต้องเสร็จ ไม่งั้นไม่ได้ค่าจ้าง มีอะไรก็ใช้ไปก่อน จะไปเอาอะไรหรูหราหมาเห่า เขาไม่ซื้อมาให้ใช้หรอก เรื่องความตระหนัก ไม่ต้องถามหา ก็มันจน จะเอาเงินที่ไหนไปเรียนรู้ ดูได้อย่างดีก็ติ๊กต่อก คำว่าอย่าทำอย่างนี้ ไม่มีหรอก ไม่ทำแล้วใครจะทำ  ส่วนพวกเซฟตี้จะไปหือไปอืออะไรได้ มีงานให้ทำก็ดีตายห่าแล้ว นายสั่งก็ต้องทำ ส่วนไอ้พวกเซฟตี้ซ่าๆก็ไปนั่งเขียนบล็อกอยู่นั่นไง เขาไล่ออก เพราะพูดมาก เฮ่อๆๆๆ วงจรโง่จนเจ็บ มันไม่ใช่แค่คน บริษัทก็เหมือนกัน ของขายไม่ดีจะเอาเงิน เอาทรัพยากรที่ไหนมาใส่ลงไปในเรื่องความปลอดภัย มันก็ต้องกำไรก่อนเรื่องแรก ส่วนระดับชาติ ก็โกง กิน คอรัปชั่นกันทุกระดับ อย่าให้ต้องสาธยาย อย่างกรณีรถทัวร์นรกนั่น ป่านนี้ จับคนโกงได้กี่คน ส่วนเรื่องเครนถล่ม คงไม่ต้องสาวไปไกลๆ จับตรงไหนก็เจอ รึใครจะเถียง 

ถ้าเป็นสมัยปี 1996 Frank E.Bird ก็บอกว่า มันเพราะระบบการจัดการไม่ดี ไม่มีมาตรการที่เพียงพอ ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน หรือถ้ามี ก็ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน อะไรๆก็เลย ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสักเรื่อง แล้วก็ลงเอยด้วยอุบัติเหตุไง เออๆๆๆ ฟังดูเข้าท่า ประเทศจนๆ มักจะมีกฏหมายมากมายจนคนออกกฏหมาย คนใช้กฏหมายและคนเดินดินงงไปตามๆกัน แต่กฏหมายที่มีส่วนใหญ่ สักแต่ว่ามี ต้องมี เพราะดันไปเซ็นตกลงในองค์กรระดับโลกมา เลยต้องตามน้ำ ไม่งั้นโลกเขาไม่นับญาติด้วย พอมีกฏหมายมากๆเข้า มีหน่วยงานมากๆเข้าคราวนี้งงครับ เพราะไม่รู้ใครต้องทำอะไร ไม่มีเจ้าภาพ มีแต่เจ้านายตัดริบิ้นเสร็จ ไม่มีคนทำงาน มีแต่ภารโรง คราวนี้ก็ต้องบูรณาการ อีคำนี้ถ้าหมายถึง Integration ผมก็เห็นด้วย แต่ถ้าเป็นแค่คำสวยๆในการประกาศภาระกิจในเว็ปไซท์ของกระทรวง ผมก็ว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย 

ปี 2000 ดอกเตอร์ Jame Reason ก็อธิบายว่าความห่วยแตกทั้งหลายมันก็เหมือนรูที่เกิดจากฟองอากาศในแผ่นชีส คนในประเทศจนๆไม่ค่อยได้กินชีสก็นึกไม่ค่อยออก Swiss Cheese Model อธิบายความล้มเหลวไว้สองประเภท ได้แก่ Latent Failure หรือความล้มเหลวที่ซ่อนเร้นมาเนิ่นนาน กับความล้มเหลวแบบ Active Failure เป็นความล้มเหลวที่เกิดขึ้นแล้วตูมตามเลย จริงๆแล้วทั้งสามคนพูดไว้ไม่ผิดเลย ความเห็นของ H.W. Heinrich กับ James Reason คล้ายกันตรงเรื่องคน แต่ต่างกันก็ตรงที่เพิ่มเติมว่าความห่วยแตกนั้นมันไม่ได้มาจากคนงานอย่างเดียว องค์กรนี่ก็เป็นต้นเหตุสำคัญ 

อย่างกรณีรถบัสย่างสดเด็กๆ มันก็เป็นแค่ฝีที่แตกออกมาก่อน ถ้าไม่เกิดเหตุนี้ก็อาจจะได้เห็นกรณีรถขนบรรดาพวก อบต. อบจ. ที่กำลังเดินทางท่องเที่ยวด้วยขบวนรถบัสอย่างคึกคัก เพราะจะสิ้นปีแล้วต้องผลาญงบประมาณให้หมด ตอนนี้ถนนจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยววัยเก๋า ไปกันทีเป็นขบวนยาวเหยียด เดี๋ยวสิ้นปีแล้ว พอเดือนกุมภาก็เลือกตั้งกันใหม่ บางจังหวัดก็มีเรื่องยิงกันตูมตามตายคาบั้น ป่านนี้ยังหาคนยิงไม่เจอ ถ้าเด็กเหล่านั้นไม่ตายก่อน ก็คงได้เห็นทัวร์นรกอีกหลายคันเลยทีเดียว สงสารพวกหนูจัง 

กรณีบ่อปลาร้านั่น ก็เป็นความห่วยของกฏหมายที่มีแต่ไม่บังคับใช้อย่างรัดกุม สถานประกอบกิจการแบบนี้จะว่าเป็นโรงงานรึเปล่า กรมที่เขาดูแลโรงงานอาจจะส่ายหัวดิกๆเกาหัวยิกๆ ส่วนกรมที่เขาดูแลลูกจ้างก็อาจจะไม่อยากออกตัวแรง กลัวงานเข้า ส่วนกลไกที่วางไว้อย่างเช่น จป.ระดับต่างๆ อย่าง จป.หัวหน้างาน จป.บริหาร จป.เทคนิค อย่างหลังนี่ไม่มีแน่เพราะคนงานไม่ถึงเกณฑ์ ต่อให้ถึงเกณฑ์ ใครจะบอก ส่วนกฏกระทรวงที่อับอากาศ อย่าไปหวังว่าจะเอาไทำ ขนาดเกิดเรื่องแล้วยังไม่มีการลงมืออะไรเลย 

เอาเป็นว่า ปัญหาใหญ่ๆของความปลอดภัยในประเทศจนๆ เอาทฤษฎีไหนมาอธิบาย มันก็น้ำตาจะไหลทุกอัน เพราะมันใช่ไปหมด อย่างกรณีเครนล้ม เครนหัก เครนหลุด ขนาดมีกฏกระทรวงกำหนดมาตรฐานเรื่องเครน เรื่องการตรวจ การออกแบบ การติดตั้ง การใช้งาน มีกฏกระทรวงสี่ผู้ ผมเพิ่มให้อีกผู้ คือผู้ต้องหา ยังล้มกันรายวัน คุณว่ามันเกิดจากอะไร ผีผลัก ไม่มีมาตรฐาน หรืออะไร ใครก็ได้ช่วยตอบที

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ขอให้วิญญานหนูน้อยและคุณครูไปสู่สุขคติ



ไม่สามารถทนดูภาพได้จนจบ น้ำตามันไหล 


ข่าวไฟไหม้ รถบัส คร่าชีวิตเด็กนักเรียนและครูที่ติดอยู่ในรถ ภาพไฟที่ลุกโหมท่วมตัวรถมันทำให้อเนจอนาถใจ ความร้อนขนาดนั้นคงไม่มีใครจะรอดออกมาได้

ยิ่งมาได้ฟังข้อมูลเกี่ยวกับการติดตั้งถังแก็สในตัวรถจำนวนมากมาย โดยไม่ต้องใช้อคติ ใดๆในการตั้งคำถาม ว่าติดเข้าไปได้ยังไง แล้วที่ว่าผ่านการตรวจโดยขนส่งทุกๆสองปี มันตรวจกันยังไงถึงได้ผ่านการอนุมัติ 

ส่วนเรื่องคนขับ พนักงานประจำรถอะไรอีกสาระพัดสาระเพ มันยิ่งทำให้เห็นว่า Transportation Safety Management -TSM ที่กรมการขนส่งได้ริเริ่มเอาไว้ มันก็แค่กระดาษ  ผมจะรอดูว่างานนี้ จะเอาผิดเปิดโปงไปได้สักกี่คน สุดท้ายก็คงเงียบๆไปเหมือนเรื่องกำนันนก เรื่องส่วยสติ๊กเกอร์ 

ประสบการณ์ที่ต้องไปติดต่อกับขนส่งแต่ละที มันหงุดหงิด มันหากินกันเป็นกระบวนการ ขนาดเรื่องกระจอกๆอย่างใบรับรองแพทย์ มันยังเอาเลยครับ ใบรับรองแพทย์จากที่อื่นใช้ไม่ได้ ต้องเป็นคลีนิกเล็กๆแถวนั้นแหละ มอเตอร์ไซค์พาไปถูก ขอบอก  ส่วนกรณีทะเบียนขาด มีร้านมากมายแถวๆนั้นรับจัดการให้ ถนนราคาไม่ธรรมดา แลกเอากับความสะดวก ส่วนเรื่องรถโดยสาร รถขนาดใหญ่ เขาตรวจกันแบบไหน ไม่รู้ มารู้อีกทีก็ตอนไฟไหม้คลอกเด็กๆตายนี่แหละ 

ที่นี่ประเทศไทย ประเทศที่ได้รับการบันทึกโดยองค์การ WHO ว่ามีอุบัติเหตุทางถนนอันดับสองของโลก และติดอันดับหนึ่งในเอเชียไม่มีใครแซง 

ประเทศไทย
  



วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567

ลิงห้าตัว

 


 

นักวิทยาศาสตร์ เอาลิงมาห้าตัว ใส่เข้าไปในกรง ที่เพดานกรง มีกล้วยหวีหนึ่งห้อยอยู่ ใต้กล้วยหวีนั้นมีบันไดเตี้ยๆ พอที่ลิงเมื่อปีนไปบนบันไดแล้วจะคว้ากล้วยมาได้ง่ายๆ 

นักวิทยาศาสตร์ เฝ้าดูลิงทั้งห้าตัว 

หากมีลิงตัวใดตัวหนึ่ง เจี๊ยก ขุก ขุก เดินไปแตะบันไดและทำท่าจะขึ้น พวกเขาก็จะระดมฉีดน้ำเย็นเจี๊ยบใส่เจ้าลิงตัวนั้น มันร้องจ๊ากๆๆๆๆ และลิงสี่ตัวที่เหลือก็จะถูกน้ำเย็นนั้นฉีดใส่ ต้องร้องจ๊ากๆๆๆเจี๊ยกๆๆๆ ไปด้วยกันทุกตัว 

ทำอยู่เช่นนี้ทุกวัน เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม 

ไม่มีลิงตัวไหนกล้าเข้าใกล้บันไดและกล้วยศักดิ์สิทธิ์นั่นเลย พวกมันได้แต่นั่งมองกล้วยศักดิ์สิทธิ์ด้วยความอยากกิน 

นักวิทยาศาสตร์ เอาลิงออกมาหนึ่งตัว เอาลิงน้องใหม่ใส่เข้าไปแทนหนึ่งตัว เจ้าเด็กใหม่ เข้าไปในกรง เห็นกล้วยศักดิ์สิทธิ์ มันบ่น ขุกๆๆๆ แล้วเดินอาดๆ เข้าไปที่บันได 

ทันทีที่มันคว้าบันได ลิงสี่ตัวที่นั่งหงอยๆอยู่ในกรงก็พากันรุมกระตื๊บและฉุดลากเด็กใหม่ออกมา เจ้าเด็กใหม่งงกับปรากฏการณ์นี้ มันได้แต่นั่งมองกล้วยนั่นด้วยความอาลัย ผ่านไปหนึ่งเดือน ลิงเก่าถูกเปลี่ยนออกไป มีลิงใหม่มาแทนหนึ่งตัว 

เหมือนเดิม เด็กใหม่เข้ามาในกรง มองกล้วย มองลิง ส่งเสียงถามเป็นภาษาลิง เฮ้ยๆๆๆ พวกเอ็งทำไมปล่อยให้กล้วยมันห้อยอยู่แบบนั้น ทำไมไม่กิน ว่าแล้วก็อาดๆเข้าคว้าบันได 

ความโกลาหลเกิดขึ้น ลิงสี่ตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นเคยเป็นลิงใหม่ที่ไม่เคยเจอน้ำเย็นๆ ก็ร่วมกันกระทืบไอ้หน้าใหม่อย่าเอาเป็นเอาตาย 

ทำอยู่แบบนี้ เอาลิงเก่าออก เอาลิงใหม่ใส่แทนไปครั้งละตัว ได้ผลเหมือนเดิม จนกระทั่งลิงชุดแรกที่เคยโดนน้ำเย็นออกไปหมดแล้ว ยังปรากฏว่า เมื่อลิงใหม่เข้ามา หากไปแตะต้องกล้วยศักดิ์สิทธิ์นั่นมีอันเจ็บตัว 

การทดลองนี้พิสูจน์ให้เห็นสาเหตุที่เด็กอาชีวะต้องตีกัน ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่รุ่น มันยังไม่รู้เลยว่าตีกันเรื่องอะไร 

เซฟตี้ก็เหมือนกัน หากทำให้เกิดปรากฏการณ์การยอมรับและเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยไปได้เรื่อยๆ แบบลิงห้าตัว แบบนี้ถึงจะเรียกว่า เจ๋งจริง