วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

จ่อว่าจะจับ VS ปรับโดยไม่ต้องจ่อ

 



ผมพูดถึงแง่มุมกฏหมายความปลอดภัยอยู่บ่อยๆ และมักจะหยิบยกการบังคับใช้กฏหมายความปลอดภัยมาเปรียบเทียบกันระหว่าง OSHA ของอเมริกา และ โอชา ของไทยแลนด์ (แต่น แต้น) ว่าเขามีลีลาในการลงดาบอย่างไร 
ก็ต้องบอกว่า ของ โอชา ไท้แลน เวลาจะลงดาบ ก็จะต้องฟ้อนไปรอบๆ มีดาบเล่มเบ้อเริ่มในมือ อย่างดาบในมาตรา 53 สามารถลงดาบนายจ้างที่ไม่ทำตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวง (ซี่งก็จะครอบจักวาลไว้หลวมๆ คลุมๆเครือๆ แบบว่าจะตีความให้หลุดก็ตีได้ จะตีความให้ จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ทำได้) แถมด้วยดาบมีดสั้นจากมาตรา 13, 16, 32 นี่ก็ไม่ธรรมดา จำคุก 6 เดือน ปรับอีก 200,000 ไหนจะมาตรา 14 ที่ปรับเพิ่มได้อีก 50,000 หากหมั่นใส้ ไล่ไปเจอว่าผิดหลายกฏกระทรวง ก็คูณเข้าไปสิ 

เครดิต 

แต่พอเอาเข้าจริง ไม่รู้ได้เคยลงดาบใครสักทีมั่งยัง สงสัยจัง ผมเข้าไปอ่านในเว็ปของ กอง มีเคสที่เขาเอามาโพส อ่านไปอ่านมาก็ยังกังขาว่า เอ เขาได้ลงโทษนายจ้างที่ละเมิดไปบ้างมั้ย รึว่าได้แต่จ่อ อี๊ แอ่ แอ๋ แอ่ แอ๋ รำป้อๆ ให้นักโทษเสียวแล้วเลี้ยวขึ้นรถตู้กลับออฟฟิศตึกเขียว 

แต่ของอเมริกาโน่น OSHA เขาไม่ได้ดุดันอย่าพวก เอฟบีไอ ที่ไปไหนๆยกบัตรให้ดู ถีบประตูแล้วตะโกนสั่ง ฟรี๊ซ ๆๆๆ พวกเขาไปตรวจ สถานประกอบกิจการ ไปเฉยๆ ไปตามที่มีคนร้องเรียน ไปตอนมีเหตุ ไปถึงก็ตรวจๆๆๆๆ เจออะไรก็จดๆๆๆๆ จดเรียงข้อ เรียงกระทง ถ้าอะไรที่เป็น การกระทำผิดแบบ สะเว็ป SVEP- Severe Violator Enforcement Program อย่างเช่น ไม่มีการตรวจเครน ไม่มี LOTOTO อันนี้เจอบ่อยๆ แบบนี้เขาสั่งปรับ ข้อหาละ 7000-8000 USD เรียกว่าปรับกันเห็นๆ ปรับขี้แตกขี้แตน แถมโพสให้เห็นเลยว่าข้อหาอะไร บริษัทอะไร ไม่มีหรอกไอ้ที่จะมาใช้ตัวย่อ บริษัท ช ผู้รับเหมา ห นาย Z โห่ย ไม่เชื่อลองคลิกไปดู

วัฒนธรรมความปลอดภัยที่สำคัญมากๆอย่างหนึ่งก็คือ ทำตามมาตรฐาน ไม่ลูบหน้าปะจมูก ไม่เงื้อง่าราคาแพง โปร่งใส 

รึใครเห็นเป็นอย่างอื่น คอมเมนท์กันมานะครับ 


วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

อบรมทำงานบนที่สูง

 



การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยที่ระทึกใจผู้เข้ารับการอบรมสุดสุด ที่ครูฝึกได้โชว์พราวด์ แสดงสตั้นท์โชว์เรียกเสียงฮือฮากรีดกร๊าด ก็มีหลายหลักสูตรทีเดียว แต่ละอย่างก็เสียวไปคนละแบบ อย่างอบรมความปลอดภัยการทำงานบนที่สูงนี่ก็ เน้น ให้ผู้เข้าอบรมใส่ Full Body Harness แล้วให้ได้มีโอกาสไปห้อยต่องแต่ง แล้วฝึกใช้ Rope Grab ใช้อุปกรณ์ในการหย่อนตัวลงมาให้ถึงพื้น เป็นไฮไลท์ ทำให้เรื่องสำคัญของการป้องกันอันตรายจากการทำงานบนที่สูงถูกละเลยไป เช่น 

การตกจากที่สูง ถ้าจะมองในแง่ความเสี่ยง จะเห็นว่า สามารถจัดการได้ทั้ง Likelihood และ Consequence  พูดง่ายๆ การป้องกันการตกจากที่สูงทำได้สองวิธี 

1. ปิดโอกาสไม่ให้เกิดการตกเสียตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะคนตก ของร่วง โครงสร้างถล่ม ด้วยการออกแบบ Safe Working Platform และเลือกใช้ให้เหมาะสม แบบนี้นายจ้างไม่ค่อยปลื้ม เพราะมันเปลือง ต้องใช้นั่งร้านมาตรฐานสูง ปูพื้นเต็ม ไม่มีช่องให้ของร่วง มี Toe Board มีราวกันตก มีบันไดทางขึ้นทางลงที่สมบูรณ์ เรียกได้ว่า เหมือนกับเดินจากชั้นหนึ่งขึ้นชั้นสองเลยทีเดียว วิธีนี้ถ้าไม่รวยจริง ไม่คลั่งเซฟตี้จริง ทำไม่ได้ ทางเลือกอื่นๆ ก็เช่น ใช้นั่งร้านแบบเคลื่อนที่ได้ ใช้รถกระเช้า Cherry Picker รถกระเช้าแบบ Scissor Lift ซึ่งก็ต้องหาซื้อหาเช่ามาอีกเหมือนกัน อุบกรณ์ MEWP-Mobile Elevated Platform พวกนี้จัดได้ว่าเป็น Safe Working Platform ถ้าใช้เป็น  

2. ถ้ามีงานที่ต้องออกไปทำนอกแบบที่ 1 เช่นปีนป่ายออกไปนอกราวกั้น ก็จัดได้ว่า Risk to Fall แบบนี้ มีโอกาสตกสูง แต่การตกนั้นจะไม่ตายแน่นอนถ้าไม่กระแทกพื้น กระแทกโครงสร้างอื่นๆ คุณว่าจริงมั้ย ลองคิดดิ ตกจากเครื่องบิน แต่ไม่ถึงพื้น จะตายมั้ย นั่นแหละจึงเป็นบทบาทของ Personal Fall Arresting System -PFAS ซึ่งก็ฝากชีวิตไว้กับ ABCDE- Anchoring Point, Body Harness, Connectors, Decelerating Devices, และสุดท้าย Emergency Rescue

มัวแต่เน้นเอามัน สาระสำคัญก็เมินไปเสียหมด แบบนี้ สู้เอาแมงมุมมากัด ให้ทุกคนกลายเป็นสไปเดอร์แมนดีกว่ามั้น พอตกขึ้นมาก็ ยื่นมืออกไป เอานิ้วกลางกดอุ้มมือ ฉีดใยแมงมุมปี๊ดๆออกไป ไม่ตายถ้าใยไม่หมด อบรมไป ถ้าละเลยข้อแรก ยังไงก็ตกลงมาตายอยู่ดี เหอๆๆๆ