วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2568

ติดคุกเพราะชำนาญการ

 พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มีข้อกำหนดมากมายหลายมาตรา รับกันมาเป็นทอดๆ ไล่ไปตั้งแต่มาตรา 4 ที่เขียนนิยามของคำว่า ความปลอดภัยเอาไว้ชัดเจน จนไม่จำเป็นต้องมาเถียงกัน อะไรที่มันเป็นสภาพหรือการกระทำที่จะก่อให้เกิดอันตรายทางร่างกายและหรือจิตใจ มันก็ไม่ปลอดภัยทั้งนั้น ต่อมาก็สำทับด้วยมาตรา 6 หน้าที่นายจ้างและลูกจ้าง ทำให้สถานประกอบกิจการปลอดภัย นายจ้างหัวหมออาจจะตั้งคำถามว่า ทำยังไงให้ปลอดภัย เขาก็เขียนมาตร 8 ดักคอไว้ว่า ให้ทำตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง คราวนี้ก็ตบท้ายด้วยบทลงโทษว่าถ้าไม่ทำตามมาตรา 8 จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรากระจุกกระจิกอย่างมาตรา 13 ที่ให้ต้องมี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย มีบุคคลากร หน่วยงาน ก็ล้อไปกับมาตรา 16 ที่ต้องให้การฝึกอบรมคนพวกนั้น มาตราเหล่านี้ทำให้นายจ้างยิ้มกริ่มเพราะตัวเองก็แค่ส่งคนไปเรียน ได้ใบเซอร์มาก็จบ ส่วนจะทำหรือไม่ทำนั่นมันเรื่องของอั๊วะ สองมาตรานี้รวมกับมาตรา 20 และมาตรา 21  ทำให้สิ่งที่เขียนในมาตรา 14 ที่บอกว่านายจ้างต้องบอกต้องแจ้งให้ลูกจ้างรู้ถึงอันตรายและมาตรการควบคุมก่อนให้ไปทำงานที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย หน้าที่ในมาตรานี้มันถูกถ่ายไปอยู่บนบ่าของบรรดา จอปอ หัวหน้างานและจอปอบริหาร จอปอเทคนิคและ จอปอวิชาชีพจนหมดแล้ว ยังไงเสียนายจ้างก็คงโดนเล่นงานด้วยมาตรา 14 ค่อนข้างยาก นายจ้างก็แค่ทำหน้าเศร้าแล้วบอกว่า เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมาก แต่น่าเสียใจที่หัวหน้างานและคนงานละเลยไม่ทำตามมาตรการ


ส่วนหน่วยงานราชการก็อ้างได้ว่ามาตรา 32 ที่ให้นายจ้างประเมินอันตราย ศึกษาผลกระทบและทำแผนดำเนินการแผนควบคุมนั้นก็เพียงพอแล้วในการกำกับดูแลในฐานะผู้ถือกฏหมาย มาตรานี้ยังกำหนดให้ต้องมีคนมาลงนามรับรองว่าแผนเหล่านั้นมีประสิทธิภาพ คนๆนั้นเขาชื่อว่า นาย "ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย"



ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย ถูกพูดถึงไว้ในมาตรา 32 มาพักใหญ่ๆ จนกระทั่งเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2567 ก็มีกฏกระทรวงออกมา กำหนดคุณสมบัติว่าคนที่จะเป็นผู้ชำนาญการความปลอดภัยได้ต้องเป็นยังไง อ่านไปอ่านมา จอปอเทคนิคก็เป็นผู้ชำนาญการได้ด้วยเรอะ โอพระเจ้าช่วยกล้วยทอด นี่มันอะไรกัน แบบนี้ ไม่ต้องมีมาตรา 32 หรอก เพราะมีก็เหมือนไม่มี นายจ้างยิ้มสิครับงานนี้


อยู่ดีๆก็มีคนมาติดคุกแทนตามมาตรา 69 ไอ้คนที่เซ็นรับรองมั่วๆ ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบแล้ว เห็นชอบ ระวังให้ดี ไปๆมาๆ ไอ้ที่เขาบอกว่าพวกเซฟตี้นี้แหละต้องติดคุก มันจะกลายเป็นจริงขึ้นมาซะแล้ว ติดคุกเพราะชำนาญการ


มาตรา ๖๙ ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้น เกิดจากการสั่งการ หรือการกระทําของบุคคลใด หรือเกิดจากการไม่สั่งการ หรือไม่กระทําการอันเป็นหน้าที่ ที่ต้องกระทําของกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย


ส่วนผู้ชำนาญการอาจจะโดนข้อหาอื่นๆ เช่น ออกเอกสารอันเป็นเท็จ กระจุกกระจิก ตราบใดที่นายจ้างยืนกระต่ายขาเดียวว่าได้ทำตามที่ผู้ชำนาญการรับรองให้แล้วอย่างครบถ้วน ที่หายหกตกหล่นไปก็เป็นความบกพร่องของหัวหน้างาน ผู้จัดการ และเซฟตี้สุดหล่อปากแจ๋วนี่แหละ

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2568

ประวัติศาสตร์เซฟตี้

 Abraham Maslow พูดถึงเซฟตี้ไว้เมื่อปี 1943 ว่าลำดับขั้นของความต้องการของคนนั้นมีอยู่เป็นลำดับๆ เริ่มตั้งแต่ความต้องการพื้นฐาน อย่างอาหาร อากาศ ที่อยู่อาศัยพักพิง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การสืบพันธุ์ การพักผ่อนหลับนอน เรียกง่ายๆว่า ท้องอิ่มนอนหลับแค่นี้ก็หรูแล้ว 

ลำดับถัดขึ้นไปอีกนิดก็ เซฟตี้ ก็จะเริ่มถูกระลึกถึง ความปลอดภัยในครอบครัว ความมั่นคงในงาน ความมั่นคงในฐานะทางการเงิน ความมั่นคงทางอารมย์ เรียกว่า ถ้าท้องยังไม่อิ่ม มันก็หนีไม่พ้น ต้องดิ้นรนหากิน จะให้ปลอดภัยนักหนานั้นไม่ง่าย บางคนต้องทำงานเสี่ยงๆ เขาสั่งให้ไปทำก็ต้องไป อย่างที่เห็นอุบัติเหตุมากมาย คนงานถูกสิ่งต่างๆถล่มทับ ถูกสารพิษคร่าชีวิต ถ้าพวกเขาเลือกได้ เขาต้องเลือกชีวิตตัวเองก่อน สำหรับพวกเขา มันเลือกลำบาก 

ลำดับถัดขึ้นไปอีก ก็เปผ้นอารมย์คนรวย เรื่องหิวโหยไม่มี ที่กำลังโหยหาคือความยอมรับทางสังคม ความสัมพันธ์ในครอบครับ เพื่อนฝูง กดไลค์กดแชร์ การได้โชว์ ได้รับเสียงเชิดชู หูหูย ลำดับนี้ เรื่องเซฟตี้ก็รองๆไปแล้ว โดยเฉพาะเซฟตี้ของลูกจ้าง ถ้าจะต้องทำให้เซฟตี้ เขาจะเลือกอย่างอื่นที่ได้หน้าได้ตามากกว่า 

เลยไปจากนี้ก็ออกแนว สนองความอยาก เช่นอยากบรรลุ อยากสุดยอด อยากได้ไปยืนบนยอดเขาเอเวอรเรสท์ อยากกระโดดร่มแล้วดูดไอติมไปด้วย อยากให้โลกรู้ ว่ากูนี่สุดยอดแล้วโว้ย 


โรงงานขนาด 20-50 คน ส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมครอบครัว มีไม่มากที่ผ่าน Basic Needs ยังขายไม่ดี ยอดขายไม่พุ่ง มีดอกเบี้ยต้องจ่ายแบ้งค์ ใช้แรงเป็นหลัก เครื่องจักรที่มีก็ไม่สมบูรณ์ อย่าพูดถึงเรื่องเซฟตี้ให้เจ็บคอ ถ้ากฏหมายไม่บังคับ หรือบังคับแบบพอไปที ยังไงเซฟตี้ก็ไม่สำคัญเท่าท้องอิ่มนอนหลับหรอกคุณ โรงงานขนาดใหญ่ พวกเขาโหยหาหน้าตาทางสังคม เน้นไปในเรื่องความยั่งยืน คาร์บอนเครดิต ไปโน่น ในขณะที่คนงานยังต้องเผชิญกับเครื่องจักรอันตราย เครื่องมือที่ทำขึ้นเอง แอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้้ำ เพราะสิ่งเหล่านี้ พวกเขามองไม่เห็นความจำเป็น พอเริ่มรวย เซฟตี้ก็ยังถูกมองข้ามอยู่ดี เพราะเจ้าของเขาไม่ใช่คนที่จะมานิ้วกุด แขนขาด ตายตกหกหล่น คนที่เจ็บที่ตายเป็นคนงาน ที่ยังไงเสียพวกเขาก็มีปัญญาจ่ายอยู่ดี แต่สิ่งที่พวกเขาโหยหากลับเป็นความต้องการลำดับที่เหนือขึ้นไป พวกเขาต้องการสายสัมพันธ์ การมีที่ยืน ต้องการเป็น สส. สว. เป็นนักการเมือง เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นแรงขับให้บรรลุจุดสุดยอด 


วันที่ 3 ธันวาคม 1984 เกิดการรั่วไหลของแก็ส MIC- Methyl Isocyanate จากโรงงานของบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ คร่าชีวิตคนอินเดียไปประมาณ 15,000 คน ตัวเลขนี้ไม่เคยตรงกัน จนป่านนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน

เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นความสูญเสียอย่างมโหฬาร ระบบความปลอดภัยที่ล้มเหลว การออกแบบที่ไม่ดีพอ การบริหารจัดการที่ล้มเหลว และการขาดความรู้ความเข้าใจของคนงานเอง เหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดเหตุการที่เลวร้าย 

โรงงานยูเนี่ยนคาร์ไบด์ สมัยนั้นก็เหมือนกัยมาบตาพุดสมัยโน้น ใครได้เข้าไปทำงานที่นั่น แค่ได้ใส่ยูนิฟอร์มก็หรูหราหมาเห่าแล้ว มันอยู่กลางเมือง ผลิตยาฆ่าแมลง อย่างเซวิ่น ที่โด่งดังในบ้านเรา กระบวนการผลิตต้องใช้สาร Methyl Isocyanate ซึ่งเมื่อทำปฎิกิริยากับน้ำมันจะเดือดพล่าน เกิดความร้อนและกลายเป็นแก็สพิษที่ลอยปกคลุมพื้นที่ ในคืนนั้นมันรั่วออกมา ระบบหล่อเย็นไม่มี ระบบเอาแก็สพิษขึ้นเผาทางปล่องไม่มี ระบบ Scrubber เล็กเกินไป และที่แย่ไปกว่านั้น ไม่มีใครรู้ว่ามันคือแก็สอะไร มันคือของลับ มีหนังเรื่อง The Prayer For The Rain   ที่นำเหตุการณ์แก็สรั่วที่โบพาลมาบอกเล่าได้อย่างละเอียดละออ พระเอกของเรื่องเป็นเซฟตี้ ที่เถียงกับผู้จัดการโรงงาน แล้วถูกสวนกลับว่า อดตายกับอุบัติเหตุ คุณจะเลือกอะไร คือประมาณว่า มึงพูดมาก เดี๋ยวกูก็ไล่ออกเสียหรอก

หลายปีก่อน ระหว่างที่ผมกำลังทำงานอยู่ที่โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในมาบตาพุด ก็ได้รับโทรศัพท์จาก อาจารย์จงรักษ์ ผลประพฤติ ขณะนั้นท่านเป็นคณะบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรำไพพรรณี ท่านโทรมาชวนว่า เขาจะมีการประชาพิจารณ์กันเรื่องโรงงานจากอินเดีย จะไปสร้างที่แหลมสิงห์ อยากชวนผมไปฟัง ไปครับลุง ผมรับปาก แล้วแกก็มารับ 

วันนั้น โรงงานที่ว่า เขาจะผลิตสาร Epichlorohydrin ซึ่งเป็นสารตั้งต้นทำพวก Epoxy Resin โดยมีกระบวนการผลิตที่ไม่สลับซับซ้อนอะไร ใช้แก็สคลอรีน ใช้กรดไฮโดรคลอริค แต่ที่น่าสนใจ มันเป็นสารก่อมะเร็ง คุณอาจจะทำคอย่นแล้วเถียงแทนว่าแหม ทำสำออย อะไรมันก็ก่อมะเร็งทั้งนั้น 

วันนั้นผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งกำลังอธิบายเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยของโรงงาน สาธยายระบบการจัดการเวลามั่นรั่วไหล คนในห้องประชุมมีสองพวก คือพวกอยากได้โรงงาน เพราะรวยจากการขายที่ขายดินการถมที่ กับอีกพวกที่มีฟาร์มปลา และที่ไร่ที่สวน ที่ท่องเที่ยวเขาไม่อยากได้ มีการเถียงการถามกันไปมา

อาจารย์ท่านนั้นเมื่อบรรยายจบก็เปิดโอกาสให้ถาม ผมก็ถามไปว่า ทำไมถึงมาตั้งที่แหลมสิงห์ ทำไมไม่ตั้งในมาบตาพุตซึ่งถ้าเทียบกันเมืองจันทบุรีไม่น่าจะเหมาะ จันทบุรีพร้อมรับเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดแล้วหรือ อย่างเช่น รถบรรทุกแก็สคลอรีนพลิกคว่ำแก็สรั่ว 

อาจารย์ท่านนั้นย้อนมาว่า คุณจบอะไรมา แก็สคลอรีนมันหนักกว่าอากาศ รั่วออกมาก็แค่ยืนขึ้นเอาผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูกแค่นี้เอง 

ผมก็บอกไปว่าจบอะไรมา แล้วย้อนถามไปว่า อาจารย์ลืมไปแล้วหรือว่าคนแก่ เด็กเล็กๆ พวกนี้เขาจะรอดรึ และที่สำคัญ อาจารย์ลืมเหตุการณ์ที่โบพาลไปแล้วรึ 

คงมีแค่เราสองคนที่รู้ว่ากำลังพูดถึงอะไร ระหว่างนั้น การถกเถียงเริ่มเสียงดัง ผมเหลือบไปเห็นชายคนหนึ่ง เอาวัตถุสีดำมะเมื่อมขึ้นมาวางบนโต๊ะแล้วตวาดว่า กูไม่สนโว้ยนี่มันเรื่องของคนจันทบุรี ใครไม่ใช่อย่าเสือก 

ผมหุบปากเงียบ สะกิดลุงจงรักษ์ว่าลุงๆ ไปเหอะ อย่าไปยุ่งกะเขาเลย ปล่อยให้เขาสูดกันไป ผมไม่อยากตายเพราะแพ้พิษสารตะกั่ว ว่าแล้วเราก็กลับกันแนบ


ติดคุกเพราะชำนาญการ

 พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มีข้อกำหนดมากมายหลายมาตรา รับกันมาเป็นทอดๆ ไล่ไปตั้งแต่มาตรา 4 ที่เ...